วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พุทฺธวจน (๒)


นิทเทศ ๖ ว่าด้วยอาการที่ตัณหาทำให้เกิดทุกข์


(มี ๓๑ เรื่อง) ตอนที่ ๒

อาการเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ (อีกปริยายหนึ่ง)

(ทรงแสดงด้วยผัสสะ)
ถูกแล้ว ถูกแล้ว อานนท์ ! ตามที่สารีบุตรเมื่อตอบปัญหาในลักษณะ
นั้นเช่นนั้น, ชื่อว่าได้ตอบโดยชอบ : อานนท์ ! ความทุกข์นั้น เรากล่าวว่า
เป็นสิ่งที่อาศัยปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดขึ้น (เรียกว่าปฏิจจสมุปปันนธรรม).

ความทุกข์นั้นอาศัยปัจจัยอะไรเล่า ? ความทุกข์นั้น อาศัยปัจจัยคือ ผัสสะ,
ผู้กล่าวอย่างนี้แล ชื่อว่า กล่าวตรงตามที่เรากล่าว ไม่เป็นการกล่าวตู่เราด้วยคำ
ไม่จริง ; แต่เป็นการกล่าวโดยถูกต้อง และสหธรรมิกบางคนที่กล่าวตาม ก็จะ ไม่พลอยกลายเป็นผู้ควรถูกติไปด้วย.

อานนท์ ! ในบรรดาสมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมทั้งสี่พวกนั้น : สมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติความทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่ตนทำเอาด้วยตนเอง, แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้นก็ยังต้องอาศัยผัสสะ เป็นปัจจัย จึงเกิดมีได้ ; สมณพราหมณ์ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติ
ความทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่ผู้อื่นทำให้, แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้น ก็ยังต้องอาศัยผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีได้ ; สมณพราหมณ์ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติความทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่ตนทำเอาด้วยตนเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย
แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้น ก็ยังต้องอาศัยผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีได้ ; ถึงแม้สมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติความทุกข์ ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทำเองหรือใครทำให้ก็เกิดขึ้นได้ ก็ตาม. แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้น ก็ยังต้องอาศัยผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีได้อยู่นั่นเอง.
- นิทาน. สํ. ๑๖/๔๐/๗๕.

อาการเกิดแห่งความทุกข์ (อีกปริยายหนึ่ง)
(ทรงแสดงด้วยนันทิ)
ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้นย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมก อยู่ ซึ่งรูป. เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งรูป, นันทิ (ความเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น. ความเพลินใด ในรูป, ความเพลินนั้นคืออุปาทาน. เพราะอุปาทานของภิกษุนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นพร้อม : ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

(ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็มีข้อความที่ตรัสอย่างเดียวกับในกรณีแห่งรูป).

- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๘/๒๘.

อาการเกิดแห่งความทุกข์ (อีกปริยายหนึ่ง)

(ทรงแสดงด้วยฉันทราคะ)
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงแสดงซึ่งความ
เกิดและความดับไปแห่งทุกข์ แก่ข้าพระองค์เถิด.”คามณิ ! ถ้าเราจะแสดงความเกิดและความดับแห่งทุกข์แก่ท่าน ปรารภอดีตกาลนานไกลว่า มันได้มีแล้วอย่างนี้ในอดีตกาล ดังนี้ไซร้, ความสงสัยเคลือบแคลงในข้อนั้น ก็จะพึงมีแก่ท่าน. ถ้าเราจะแสดงความเกิดและ ความดับแห่งทุกข์ ปรารภอนาคตกาลนานไกล ว่ามันได้มีแล้วอย่างนี้ในอนาคตกาล ดังนี้ไซร้, ความสงสัยเคลือบแคลงแม้ในข้อนั้น ก็จะพึงมีแก่ท่าน.
เอาละ คามณิ ! เรานั่งอยู่ที่นี่ จะแสดงความเกิดและความดับแห่งทุกข์แก่ท่าน ผู้นั่งอยู่ที่นี่ด้วยกัน, ท่านจงฟัง จงทำในใจให้ดี, เราจะกล่าว.
คามณิ ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : มีไหม มนุษย์ใน หมู่บ้านอุรุเวลกัปปะนี้ ที่ถูกฆ่า ถูกจองจำ ถูกทำให้เสื่อมเสีย ถูกติเตียนแล้ว โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาส จะเกิดขึ้นแก่ท่าน ?
 “มี พระเจ้าข้า !”

คามณิ ! มีไหม มนุษย์ในหมู่บ้านอุรุเวลกัปปะนี้ ที่ถูกฆ่า ถูกจองจำ ถูกทำให้เสื่อมเสีย ถูกติเตียนแล้ว โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาส จะไม่ เกิดขึ้นแก่ท่าน ? “มี พระเจ้าข้า!”

คามณิ ! อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ความโศก (เป็นต้น) เกิดขึ้น แก่ท่านเพราะมนุษย์พวกหนึ่ง และไม่เกิดขึ้นแก่ท่านเพราะมนุษย์พวกหนึ่ง ?

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะว่า ฉันทราคะของข้าพระองค์มีอยู่ ในหมู่มนุษย์ที่ ทำให้ความโศก (เป็นต้น) เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ และ ฉันทราคะของข้าพระองค์ไม่มีอยู่ ในหมู่มนุษย์ที่ไม่ทำให้ความโศก (เป็นต้น) เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์.

คามณิ ! ด้วยธรรมนี้ อันท่านเห็นแล้ว รู้แจ้งแล้ว บรรลุแล้ว หยั่งลง ทั่วถึงแล้ว อันไม่ขึ้นอยู่กับเวลา ท่านจงนำไปซึ่งนัยนี้สู่ธรรมในอดีตและอนาคต ว่า “ทุกข์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะ เป็นเหตุ เพราะว่า ฉันทะเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ ; และทุกข์ใด ๆ อันจะเกิดขึ้นในอนาคต ทุกข์ทั้งหมดนั้นก็มีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะว่าฉันทะเป็น มูลเหตุแห่งทุกข์,” ดังนี้.

- สฬา.สํ. ๑๘/๔๐๓/๖๒๗.

อาการเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ (อีกปริยายหนึ่ง)
(ทรงแสดงด้วยอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งภพใหม่)

ภิกษุ ท. ! ถ้าบุคคลย่อมคิด (เจเตติ) ถึงสิ่งใดอยู่, ย่อมดำริ (ปกปฺเปติ) ถึงสิ่งใดอยู่, และย่อมมีจิตฝังลงไป (อนุเสติ) ในสิ่งใดอยู่ ; สิ่งนั้นย่อมเป็น อารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ. เมื่ออารมณ์ มีอยู่, ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่ง

วิญญาณ ย่อมมี; เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว, ความเกิด ขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไป ย่อมมี ; เมื่อความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไป มี, ชาติชรา มรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วนต่อไป : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุ ท. ! ถ้าบุคคลย่อมไม่คิด (โน เจเตติ) ถึงสิ่งใด, ย่อมไม่ดำริ (โน ปกปฺเปติ) ถึงสิ่งใด, แต่เขายังมีใจฝังลงไป (อนุเสติ) ในสิ่งใดอยู่; สิ่งนั้นย่อมเป็น อารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ. เมื่ออารมณ์ มีอยู่, ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่ง

วิญญาณ ย่อมมี; เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว, ความเกิด ขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไป ย่อมมี ; เมื่อความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไป มี, ชาติ ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นครบถ้วนต่อ ไป : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

- นิทาน. สํ. ๑๖/๗๘/๑๔๕.

อาการเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ (อีกปริยายหนึ่ง)
(ทรงแสดงด้วยอารมณ์เป็นที่ก้าวลงแห่งนามรูป)

ภิกษุ ท. ! ถ้าบุคคลย่อมคิด (เจเตติ) ถึงสิ่งใดอยู่, ย่อมดำริ (ปกปฺเปติ) ถึงสิ่งใดอยู่, และย่อมมีจิตปักลงไป (อนุเสติ) ในสิ่งใดอยู่ ; สิ่งนั้นย่อมเป็น อารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ. เมื่ออารมณ์ มีอยู่, ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่ง วิญญาณ ย่อมมี ; เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว, การก้าวลงแห่งนามรูป ย่อมมี ; เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ ; เพราะมีสฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ; เพราะ

มีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ; เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ; เพราะมี อุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ; เพราะมีชาติเป็น ปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิด ขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุ ท. ! ถ้าบุคคลย่อมไม่คิดถึงสิ่งใด, ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใด, แต่เขายัง มีใจฝังลงไป (คือมีอนุสัย) ในสิ่งใดอยู่ ; สิ่งนั้น ย่อมเป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ. เมื่ออารมณ์ มีอยู่, ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ ย่อมมี ; เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว, การก้าวลงแห่งนามรูป ย่อมมี ; เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ ; เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ; เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ; เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ; เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ
โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายจึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

- นิทาน. สํ. ๑๖/๗๙/๑๔๗.

อาการเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ (อีกปริยายหนึ่ง)
(ทรงแสดงด้วยอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งนติ)

ภิกษุ ท. ! ถ้าบุคคลย่อมคิด (เจเตติ) ถึงสิ่งใดอยู่, ย่อมดำริ (ปกปฺเปติ)
ถึงสิ่งใดอยู่, และย่อมมีใจฝังลงไป (อนุเสติ) ในสิ่งใดอยู่ ; สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ. เมื่ออารมณ์ มีอยู่, ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณย่อมมี ; เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว, เครื่องนำไปสู่ภพใหม่ (นติ - ตัณหา) ย่อมมี ; เมื่อเครื่องนำไปสู่ภพใหม่ มี, การมาการไป (อาคติคติ) ย่อมมี ; เมื่อการมาการไป มี, การเคลื่อนและการบังเกิด (จุติ + อุปะปาตะ) ย่อมมี ; เมื่อมีการเคลื่อนและการบังเกิด มี, ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัส อุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วนต่อไป : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุ ท. ! ถ้าบุคคลย่อมไม่คิดถึงสิ่งใด, ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใด, แต่เขายัง มีใจปักลงไปในสิ่งใดอยู่ ; สิ่งนั้น ย่อมเป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ. เมื่ออารมณ์ มีอยู่, ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ ย่อมมี ; เมื่อวิญญาณนั้น ตั้ง ขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว, เครื่องนำไปสู่ภพใหม่ (นติ - ตัณหา) ย่อมมี ; เมื่อ
เครื่องนำไปสู่ภพใหม่ มี, การมาการไป (อาคติคติ) ย่อมมี ; เมื่อการมาการไปมี, การเคลื่อนและการบังเกิด (จุติ+อุปะปาตะ) ย่อมมี ; เมื่อการเคลื่อนและการบังเกิดมี, ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วนต่อไป : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

- นิทาน. สํ. ๑๖/๖๘๐/๑๔๙

อาการเกิดแห่งความทุกข์โดยสังเขป
มิคชาละ ! รูป ทั้งหลายที่เห็นด้วยตา อันเป็นรูปที่น่าปรารถนาน่ารักน่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่ยั่วยวนชวนให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่. ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน
พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ในรูปนั้นไซร้ ; เมื่อภิกษุนั้น เพลิดเพลินพร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ในรูปนั้นอยู่, นันทิ (ความเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น. มิคชาละ ! เรากล่าวว่า “ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ มีได้ เพราะความเกิดขึ้น
แห่งนันทิ” ดังนี้.

(ในกรณีแห่งเสียงที่ได้ยินด้วยหู กลิ่นที่ดมด้วยจมูก รสที่ลิ้มด้วยลิ้น โผฏฐัพพะที่สัมผัสด้วยผิวกาย และธัมมารมณ์ที่รู้แจ้งด้วยใจ ก็ได้ตรัสไว้โดยทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปที่เห็นด้วยตา).

- สฬา. สํ. ๑๘/๔๕/๖๘.

อาการเกิดขึ้นแห่งโลก

ภิกษุ ท. ! การก่อขึ้นแห่งโลก (ปัญจุปาทานขันธ์) เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! เพราะอาศัย ตา ด้วย รูปด้วย จึงเกิดจักขุวิญญาณขึ้น ; การประจวบพร้อม (แห่งตา+รูป+จักขุวิญญาณ) ทั้งสามอย่างนั้น จึงเกิดมีผัสสะ ; เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมี เวทนา ; เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดมี ตัณหา ; เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีอุปาทาน ; เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
จึงเกิดมีภพ ; เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชาติ ; เพราะชาติเป็นปัจจัย, ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส จึงเกิดมีพร้อม. นี่คือการก่อขึ้นแห่งโลก.

ภิกษุ ท. ! เพราะอาศัย หู ด้วย เสียงด้วย จึงเกิดโสตวิญญาณขึ้น ; การประจวบพร้อม (แห่งหู+เสียง+โสตวิญญาณ) ทั้งสามอย่างนั้น จึงเกิดมีผัสสะ ; เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีเวทนา ; เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิด มีตัณหา ; เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีอุปาทาน ; เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดมีภพ ; เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชาติ ; เพราะชาติเป็นปัจจัย, ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส จึงเกิดมีพร้อม. นี่คือการก่อขึ้นแห่งโลก.

ภิกษุ ท. ! เพราะอาศัย จมูก ด้วยกลิ่นด้วย จึงเกิดฆานวิญญาณขึ้น ; การประจวบพร้อม (แห่งจมูก+กลิ่น+ฆานวิญญาณ) ทั้งสามอย่างนั้น จึงเกิดมี ผัสสะ ; เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีเวทนา ; เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีตัณหา ; เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีอุปาทาน ; เพราะอุปาทานเป็น ปัจจัย จึงเกิดมีภพ ; เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชาติ ; เพราะชาติเป็น ปัจจัย, ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส จึงเกิดมี พร้อม. นี่คือ การก่อขึ้นแห่งโลก.

ภิกษุ ท. ! เพราะอาศัย ลิ้น ด้วย รสด้วย จึงเกิดชิวหาวิญญาณขึ้น ; การประจวบพร้อม (แห่งลิ้น+รส+ชิวหาวิญญาณ) ทั้งสามอย่างนั้น จึงเกิดมี ผัสสะ ; เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีเวทนา ; เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีตัณหา ; เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีอุปาทาน ; เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดมีภพ ; เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชาติ ; เพราะชาติเป็นปัจจัย, ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส จึงเกิดมี พร้อม. นี่คือ การก่อขึ้นแห่งโลก.

ภิกษุ ท. ! เพราะอาศัย กาย ด้วย โผฏฐัพพะด้วย จึงเกิดกายวิญญาณขึ้น ; การประจวบพร้อม (แห่งกาย+โผฏฐัพพะ+กายวิญญาณ) ทั้งสามอย่างนั้นจึงเกิดมีผัสสะ ; เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีเวทนา ; เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดมีตัณหา ; เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีอุปาทาน ; เพราะอุปาทานเป็น
ปัจจัย จึงเกิดมีภพ ; เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชาติ ; เพราะชาติเป็นปัจจัย, ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส จึงเกิดมีพร้อม. นี่คือ การก่อขึ้นแห่งโลก.

ภิกษุ ท. ! เพราะอาศัย ใจ ด้วย ธรรมารมณ์ด้วย จึงเกิดมโนวิญญาณขึ้น ; การประจวบพร้อม (แห่งใจ+ธรรมารมณ์+มโนวิญญาณ) ทั้งสามอย่างนั้นจึงเกิดมีผัสสะ ; เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีเวทนา ; เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดมีตัณหา ; เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีอุปาทาน ; เพราะอุปาทานเป็น
ปัจจัย จึงเกิดมีภพ ; เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชาติ ; เพราะชาติเป็นปัจจัย, ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส จึงเกิดมีพร้อม. นี่คือ การก่อขึ้นแห่งโลก.
ภิกษุ ท. ! นี่คือ การก่อขึ้นแห่งโลก แล.

- สฬา. สํ. ๑๘/๑๐๘/๑๕๖.

ความเกิดขึ้นแห่งอายตนะ นั้นคือความเกิดขึ้นแห่งทุกข์

ภิกษุ ท. ! การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การเกิดโดยยิ่ง การปรากฏแห่งจักษุ, อันใด ; อันนั้น เป็นการ เกิดขึ้นแห่งทุกข์, เป็นการตั้งอยู่แห่งโรค, เป็นการปรากฏออกแห่งชราและมรณะ.(ในกรณีแห่ง โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และมนะ ก็ตรัสไว้โดยข้อความอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งจักษุ.)
คำว่า เกิดขึ้น ในกรณีอย่างนี้ หมายความว่า สิ่งนั้น ๆ ทำหน้าที่ของมัน ตามอำนาจของอวิชชา.
ในสูตรอื่น ๆ แทนที่จะทรงแสดงด้วยอายตนะภายในอย่างนี้ ได้ทรงแสดงไว้ด้วยอายตนะภายนอกหก วิญญาณหก ผัสสะหก เวทนาหก สัญญาหก สัญเจตนาหก ตัณหาหก ธาตุหก และขันธ์ห้า. นอกจากนั้น ยังได้ทรงแสดงฝ่ายดับโดยปฏิปักขนัยเป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ความเข้าไป
สงบแห่งโรค ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งชรามรณะ ตรงกันข้ามจากข้อความฝ่ายเกิด ทุกๆข้อด้วย ซึ่งผู้
ศึกษาอาจกำหนดได้ด้วยตนเอง).

- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๘๓ - ๒๘๗/๔๗๙ - ๔๙๘.
อาการที่ทุกข์เกิดจากอาหาร
ภิกษุ ท. ! อาหารสี่อย่างเหล่านี้ มีอยู่ เพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งสัตว์ผู้เกิดแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด. อาหารสี่อย่างเหล่าไหนเล่า ?
สี่อย่างคือ อาหารที่หนึ่งคือ อาหารคือคำข้าว หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม, อาหาร ที่สองคือ ผัสสะ, อาหารที่สามคือ มโนสัญเจตนา, อาหารที่สี่คือ วิญญาณ. ภิกษุ ท. ! อาหารสี่อย่างเหล่านี้แล มีอยู่ เพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งสัตว์ผู้เกิดแล้วหรือเพื่ออนุเคราะห์สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด.

ภิกษุ ท. ! ถ้ามีราคะ มีนันทิ มีตัณหา ในอาหารคือคำข้าวไซร้. วิญญาณก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ ในอาหารคือคำข้าวนั้น ๆ. วิญญาณที่ตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ มีอยู่ในที่ใด, การก้าวลงแห่งนามรูป ก็มีอยู่ในที่นั้น. การก้าวลงแห่งนามรูป มีอยู่ในที่ใด, ความเจริญแห่งสังขาร ทั้งหลาย ก็มีอยู่ในที่นั้น. ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย มีอยู่ในที่ใด, การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ก็มีอยู่ในที่นั้น. การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป มีอยู่ ในที่ใด, ชาติ ชรา และมรณะ ต่อไป ก็มีอยู่ ในที่นั้น. ชาติ ชรา และมรณะต่อไป มีอยู่ ในที่ใด ; ภิกษุ ท. ! เราเรียกที่นั้น ว่า “เป็น ที่มีโศก มีธุลี และมี ความคับแค้น” ดังนี้. (ในกรณีเกี่ยวกับอาหารอีก ๓ อย่าง คือ ผัสสะ มโนสัญเจตนา และวิญญาณ ก็ตรัสโดยทำนองเดียวกับอาหารคือคำข้าว).

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนช่างย้อม หรือช่างเขียน, เมื่อมีน้ำย้อม คือ ครั่งขมิ้น ครามหรือสีแดงอ่อน ก็จะพึงเขียนรูปสตรี หรือรูปบุรุษ ลงที่แผ่นกระดานหรือฝาผนัง หรือผืนผ้า ซึ่งเกลี้ยงเกลา ได้ครบทุกส่วน, อุปมานี้ฉันใด ;

ภิกษุ ท. ! อุปไมยก็ฉันนั้น คือ ถ้ามีราคะ มีนันทิ มีตัณหา ในอาหารคือคำข้าวไซร้, วิญญาณ ก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ ในอาหารคือคำข้าวนั้น ๆ, วิญญาณ ที่ตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ มีอยู่ในที่ใด, การก้าวลงแห่งนามรูป ก็มีอยู่ในที่นั้น. การก้าวลงแห่งนามรูป มีอยู่ในที่ใด, ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ก็มีอยู่ ในที่นั้น. ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย มีอยู่ในที่ใด. การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ก็มีอยู่ในที่นั้น. การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป มีอยู่ในที่ใด, ชาติ ชราและมรณะต่อไป ก็มีอยู่ในที่นั้น. ชาติ ชรา และมรณะต่อไป มีอยู่ในที่ใด ; ภิกษุ ท. ! เราเรียกที่นั้น ว่า “เป็นที่มีโศก มีธุลี และมีความคับแค้น. (มีข้อความตรัสต่อไปจนกระทั่งจบข้อความในกรณีอาหารที่สี่คือวิญญาณ ซึ่งอาหารอีก ๓ อย่างที่ตรัสต่อไปนั้น ก็มีข้อความเหมือนกับในกรณีอาหารคือคำข้าวข้างบนนี้ทุกประการต่างแต่ชื่ออาหารเท่านั้น)” ดังนี้ แล.
- นิทาน. สํ. ๑๖/๑๒๒-๑๒๓/๒๔๕-๒๔๗.

อาการที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะตัณหาในอายตนะภายนอก
ภิกษุ ท. ! การเกิดขึ้น การเกิดโดยยิ่ง การตั้งอยู่ และความปรากฏ ของตัณหาในรูป, ของตัณหาในเสียง, ของตัณหาในกลิ่น, ของตัณหาในรส, ของตัณหาในโผฏฐัพพะ, และของตัณหาในธรรมารมณ์, อันใด ; อันนั้น แหละ เป็นการเกิดขึ้นของทุกข์, อันนั้นแหละ เป็นการตั้งอยู่ของสิ่งซึ่งมีปกติเสียดแทงทั้งหลาย, อันนั้นแหละเป็นความปรากฏของชราและมรณะแล.

- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๘๖/๔๙๓.

อาการที่ทุกข์เกิดมาจากตัณหา

ภิกษุ ท. ! เมื่อภิกษุเป็นผู้มีปกติเห็นโดยความเป็นอัสสาทะ (น่ารักน่ายินดี) ในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน (อุปาทานิยธรรม) อยู่, ตัณหาย่อมเจริญอย่างทั่วถึง,เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน ;
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการ อย่างนี้.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนไฟกองใหญ่ พึงลุกโพลงด้วยไม้สิบเล่มเกวียนบ้าง ยี่สิบเล่มเกวียนบ้าง สามสิบเล่มเกวียนบ้าง สี่สิบเล่มเกวียนบ้าง.บุรุษพึงเติมหญ้าแห้งบ้าง มูลโคแห้งบ้าง ไม้แห้งบ้าง ลงไปในกองไฟนั้น ตลอด เวลาที่ควรเติม อยู่เป็นระยะๆ. ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล ไฟกองใหญ่ซึ่งมีเครื่องหล่อเลี้ยงอย่างนั้น มีเชื้อเพลิงอย่างนั้น ก็จะพึงลุกโพลงตลอด กาลยาวนาน, ข้อนี้ฉันใด ; ภิกษุ ท. ! เมื่อภิกษุเป็นผู้มีปกติเห็นโดยความ เป็นอัสสาทะ (น่ารักน่ายินดี) ในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานอยู่.
ตัณหาย่อมเจริญอย่างทั่วถึง ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ; เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ แล.

- นิทาน. สํ. ๑๖/๑๐๒/๑๙๖-๑๙๗.

(ในสูตรถัดไปทรงแสดงสัญโญชนิยธรรม แทนคำว่า อุปาทานิยธรรม; และในตอนอุปมาทรงแสดงอุปมาด้วยประทีปน้ำมันลุกโพลงอยู่ได้เพราะอาศัยเชื้อและมีผู้คอยเติม โดยนัยเดียวกับสูตรข้างบน).

ตัณหาเป็นเชื้อแห่งการเกิด

วัจฉะ ! เราย่อมบัญญัติความบังเกิดขึ้น สำหรับสัตว์ผู้ที่ยังมีอุปาทาน (เชื้อ) อยู่, ไม่ใช่สำหรับสัตว์ผู้ที่ไม่มีอุปาทาน. วัจฉะ ! เปรียบเหมือนไฟ ที่มีเชื้อ ย่อมโพลงขึ้นได้, ที่ไม่มีเชื้อ ก็โพลงขึ้นไม่ได้, อุปมานี้ฉันใด
อุปไมยก็ฉันนั้น; วัจฉะ ! เราย่อมบัญญัติความบังเกิดขึ้น สำหรับสัตว์ผู้ที่ยังมี อุปาทานอยู่, ไม่ใช่สำหรับสัตว์ผู้ที่ไม่มีอุปาทาน.

“พระโคดมผู้เจริญ ! ถ้าสมัยใด เปลวไฟ ถูกลมพัดหลุดปลิวไปไกล, สมัยนั้น พระโคดมย่อมบัญญัติ ซึ่งอะไร ว่าเป็นเชื้อแก่เปลวไฟนั้น ถ้าถือว่ามันยังมีเชื้ออยู่ ?”

วัจฉะ ! สมัยใด เปลวไฟ ถูกลมพัดหลุดปลิวไปไกล, เราย่อมบัญญัติเปลวไฟนั้น ว่า มีลมนั่นแหละเป็นเชื้อ. วัจฉะ ! เพราะว่า สมัยนั้นลมย่อมเป็นเชื้อของเปลวไฟนั้น.

“พระโคดมผู้เจริญ ! ถ้าสมัยใด สัตว์ทอดทิ้งกายนี้ และยังไม่บังเกิดขึ้นด้วยกายอื่น, สมัยนั้นพระโคดม ย่อมบัญญัติ ซึ่งอะไร ว่าเป็นเชื้อแก่สัตว์นั้น ถ้าถือว่า มันยังมีเชื้ออยู่ ?”

วัจฉะ ! สมัยใด สัตว์ทอดทิ้งกายนี้ และยังไม่บังเกิดขึ้นด้วยกายอื่น (สัมภเวสีสัตว์), เรากล่าว สัตว์นี้ ว่า มีตัณหานั่นแหละเป็นเชื้อ ; เพราะว่า สมัยนั้น ตัณหาย่อมเป็นเชื้อของสัตว์นั้น แล.

- สฬา. สํ. ๑๘/๔๘๕/๘๐๐.

อาสวะทำหน้าที่อย่างเดียวกับตัณหา

อัคคิเวสสนะ ! อย่างไรเล่า เรียกว่าเป็นคนหลงใหล ?
อัคคิเวสสนะ ! อาสวะเหล่าใด อันกระทำให้เศร้าหมอง ทำให้ เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรามรณะต่อไป เป็นอาสวะที่บุคคลใดละไม่ได้ เรากล่าวบุคคลนั้นว่า เป็นคนหลงใหล. อัคคิเวสสนะ ! เพราะ ละอาสวะไม่ได้จึงเป็นคนหลงใหล.

อัคคิเวสสนะ ! อาสวะเหล่าใด อันกระทำให้เศร้าหมอง ทำให้เกิด ในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชรามรณะต่อไป เป็นอาสวะที่บุคคลใดละได้แล้ว เรากล่าวบุคคลนั้นว่า เป็นคนไม่หลงใหล. อัคคิเวสสนะ ! เพราะ ละอาสวะได้จึงเป็นคนไม่หลงใหล.
อัคคิเวสสนะ ! อาสวะเหล่าใด อันกระทำให้เศร้าหมอง ทำให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชรามรณะต่อไป ; อาสวะเหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ทำให้มีรากขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลไม่มีขั้วยอดแล้ว ถึงความไม่มีไม่เป็น มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดาเปรียบเหมือนต้นตาลมีขั้วยอดขาดแล้ว ไม่อาจงอกงามได้อีกต่อไป ฉันใดก็ฉันนั้น.

- มู. ม. ๑๒/๔๖๑/๔๓๑.


(ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า ตามพระบาลีนี้ อาสวะทำหน้าที่อย่างเดียวกับตัณหา คือสร้างภพใหม่ หรือเป็นเหตุให้เกิดทุกข์)

อาการที่สัตว์เกิดตัณหาและเกิดทุกข์
ภิกษุ ท. ! การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ ย่อมมีได้ เพราะการประชุมพร้อมของสิ่ง ๓ อย่าง. ในสัตว์โลกนี้ แม้มารดาและบิดาเป็นผู้อยู่ร่วมกัน แต่มารดายังไม่ผ่านการมีระดู และคันธัพพะ (สัตว์ที่จะเข้าไปปฏิสนธิในครรภ์นั้น) ก็ยังไม่เข้าไปตั้งอยู่โดยเฉพาะด้วย, การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ ก็ยังมีขึ้น ไม่ได้ก่อน. ในสัตว์โลกนี้ แม้มารดาและบิดาเป็นผู้อยู่ร่วมกัน และมารดาก็ผ่านการมีระดู แต่คันธัพพะยังไม่เข้าไปตั้งอยู่โดยเฉพาะ, การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ก็ยังมีขึ้นไม่ได้นั่นเอง ; 

ภิกษุ ท. ! แต่เมื่อใด มารดาและบิดาเป็นผู้อยู่ร่วมกันด้วย, มารดาก็ผ่านการมีระดูด้วย คันธัพพะก็เข้าไปตั้งอยู่โดยเฉพาะด้วย, การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ ย่อมสำเร็จได้ เพราะการประชุมพร้อมกัน ของสิ่ง ๓ อย่าง ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุ ท. ! มารดา ย่อมบริหารสัตว์ที่เกิดในครรภ์นั้น ด้วยความเป็นห่วงอย่างใหญ่หลวง เป็นภาระหนัก ตลอดเวลาเก้าเดือนบ้าง สิบเดือนบ้าง.

ภิกษุ ท. ! เมื่อล่วงไปเก้าเดือนหรือสิบเดือน, มารดา ย่อมคลอดบุตรนั้นด้วยความเป็นห่วงอย่างใหญ่หลวง เป็นภาระหนัก ; ได้เลี้ยงซึ่งบุตรอันเกิดแล้วนั้น ด้วยโลหิตของตนเอง. ภิกษุ ท. ! ในวินัยของพระอริยเจ้าคำว่า “โลหิต” นี้ หมายถึงน้ำนมของมารดา.

ภิกษุ ท. ! ทารกนั้น เจริญวัยขึ้น มีอินทรีย์อันเจริญเต็มที่แล้วเล่นของเล่นสำหรับเด็ก เช่น เล่นไถน้อย ๆ เล่นหม้อข้าวหม้อแกง เล่นของเล่นชื่อโมกขจิกะ๑ เล่นกังหันลมน้อย ๆ เล่นตวงของด้วยเครื่องตวงที่ทำด้วยใบไม้ เล่นรถน้อย ๆ เล่นธนูน้อย ๆ.

ภิกษุ ท. ! ทารกนั้น ครั้นเจริญวัยขึ้นแล้ว มีอินทรีย์อันเจริญเต็มที่ แล้ว เป็นผู้เอิบอิ่มเพียบพร้อมด้วยกามคุณห้า ให้เขาบำเรออยู่ : ทางตาด้วยรูป, ทางหูด้วยเสียง, ทางจมูกด้วยกลิ่น, ทางลิ้นด้วยรส, และทางกายด้วย โผฏฐัพพะ, ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ ที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ และเป็นที่ตั้งแห่งความรัก. ทารกนั้น ครั้นเห็นรูปด้วยจักษุ เป็นต้น แล้ว ย่อมกำหนัดยินดี ในรูป เป็นต้น ที่ยั่วยวนให้เกิดความรัก, ย่อมขัดใจ
ในรูป เป็นต้น ที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความรัก ; ไม่เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งสติอันเป็นโมกขจิกะ เป็นของเล่นสำหรับเด็กชนิดหนึ่ง ที่ตอนบนหมุนได้.ไปในกาย มีใจเป็นอกุศล ไม่รู้ตามที่เป็นจริง ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งธรรมอันเป็นบาปอกุศลทั้งหลาย. กุมารน้อยนั้น เมื่อประกอบด้วย ความยินดีและความยินร้ายอยู่เช่นนี้แล้ว, เสวยเฉพาะซึ่งเวทนาใด ๆ เป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม, เขาย่อมเพลิดเพลินพร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งเวทนานั้น ๆ. เมื่อเป็นอยู่เช่นนั้น, ความเพลิน(นันทิ) ย่อมบังเกิดขึ้น. ความเพลินใด ในเวทนาทั้งหลาย มีอยู่, ความเพลินอันนั้นเป็นอุปาทาน. เพราะอุปาทานของเขานั้นเป็นปัจจัย จึงเกิดมีภพ ; เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชาติ ; เพราะชาติเป็นปัจจัย, ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะทุกขะ โทมนัส และอุปายาส จึงเกิดมีพร้อม. ความก่อขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้นย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้ แล.

- มู. ม. ๑๒/๔๘๗-๔๘๘/๔๕๒-๔๕๓

อาการที่ตัณหา (เครื่องนำไปสู่ภพใหม่) เจริญขึ้น
ภิกษุ ท. ! บุคคล เมื่อไม่รู้ไม่เห็น ซึ่ง จักษุ ตามที่เป็นจริง, เมื่อไม่รู้ ไม่เห็น ซึ่ง รูป ทั้งหลาย ตามที่เป็นจริง, เมื่อไม่รู้ไม่เห็น ซึ่ง จักขุวิญญาณ ตามที่เป็นจริง, เมื่อไม่รู้ไม่เห็น ซึ่ง จักขุสัมผัส ตามที่เป็นจริง, เมื่อไม่รู้ ไม่เห็น ซึ่ง เวทนา อันเกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย อันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม ตามที่เป็นจริง แล้ว ; เขาย่อมกำหนัดในจักษุ, กำหนัดในรูปทั้งหลาย, กำหนัดในจักขุวิญญาณ, กำหนัดในจักขุสัมผัส, และกำหนัดในเวทนาอันเกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยอันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม. เมื่อบุคคลนั้น กำหนัดแล้ว ติดพันแล้ว ลุ่มหลงแล้ว จ้องมองต่ออัสสาทะอยู่, ปัญจุปาทานขันธ์ทั้งหลาย ย่อมถึงซึ่งความก่อเกิดต่อไป ; และตัณหาของเขาอันเป็น เครื่องนำไปสู่ภพใหม่ อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน เป็นเครื่องทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ นั้นย่อมเจริญถึงที่สุด แก่เขา ; ความกระวนกระวาย (ทรถ) แม้ทางกาย ย่อมเจริญถึงที่สุด แก่เขา , ความกระวนกระวาย แม้ทางจิต ย่อมเจริญถึงที่สุด แก่เขา ; ความแผดเผา (สนฺตาป) แม้ทางกาย ย่อมเจริญถึงที่สุด แก่เขา, ความแผดเผา แม้ทางจิต ย่อมเจริญถึงที่สุด แก่เขา ; ความเร่าร้อน (ปริฬาห) แม้ทางกาย ย่อมเจริญถึงที่สุดแก่เขา, ความเร่าร้อน แม้ทางจิต ย่อมเจริญถึงที่สุด แก่เขา.บุคคลนั้น ย่อมเสวยซึ่งความทุกข์อันเป็นไปทางกาย ด้วย, ซึ่งความทุกข์อันเป็นไปทางจิตด้วย.
(ในกรณีแห่งหมวด โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย และมโน ก็ได้ตรัสไว้โดยทำนองเดียวกัน).

- อุปริ. ม. ๑๔/๕๒๑/๘๒๖-๘๒๗.

เห็นแก่เหยื่อจึงติดเบ็ด

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนพรานเบ็ด ซัดเบ็ดที่เกี่ยวเหยื่อลงไปในห้วงน้ำลึก. ปลาที่เห็นแก่เหยื่อตัวใดตัวหนึ่ง จะพึงกลืนเบ็ดนั้นเข้าไป. 

ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการนี้แหละ ปลาที่กลืนเบ็ดตัวนั้น ถึงแล้วซึ่งความพินาศถึงแล้วซึ่งความฉิบหาย เพราะพรานเบ็ด แล้วแต่พรานเบ็ดนั้นใคร่จะทำตามอำเภอใจอย่างใด.

ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น, เบ็ดหกตัวเหล่านี้ มีอยู่ในโลก เพื่อความฉิบหายของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อฆ่าสัตว์ทั้งหลาย. เบ็ดหกตัวนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? เบ็ดหกตัวนั้น คือ รูป ที่เห็นด้วยตาก็ดี, เสียง ที่ฟังด้วยหูก็ดี, กลิ่น ที่ดมด้วย จมูกก็ดี, รส ที่ลิ้มด้วยลิ้นก็ดี, โผฏฐัพพะ ที่สัมผัสด้วยกายก็ดี, และธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งด้วยใจก็ดี, มีอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่น่าพอใจ ที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ และเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ. ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ซึ่งอารมณ์ มีรูปเป็นต้นนั้นไซร้ ;

ภิกษุ ท. ! ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้กลืนเบ็ดของมาร ถึงแล้วซึ่งความ พินาศ ถึงแล้วซึ่งความฉิบหาย แล้วแต่มารผู้มีบาปใคร่จะทำประการใด แล.

- สฬา. สํ. ๑๘/๑๙๗/๒๘๙.

ผู้แบกของหนัก

ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงของหนัก ผู้แบกของหนัก และการแบก ของหนัก.... แก่พวกเธอ. เธอทั้งหลาย จงฟังข้อความนั้น.

ภิกษุ ท. ! อะไรเล่า ชื่อว่า ของหนัก ? ภิกษุ ท. ! อุปาทานักขันธ์ ทั้งห้านั้นแหละ เรากล่าวว่าเป็นของหนัก. อุปาทานนักขันธ์ทั้งห้าเหล่า ไหนเล่า ? ห้าคือ:- ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ รูป, ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ เวทนา, ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ สัญญา, ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ สังขาร, และขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ วิญญาณ. ภิกษุ ท. ! นี้ เราเรียกว่า ของหนัก.

ภิกษุ ท. ! อะไรเล่า ชื่อว่า ผู้แบกของหนัก ? ภิกษุ ท. ! บุคคล(ตามสมมติ) นั้นแหละ เราเรียกว่า ผู้แบกของหนัก. เขามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนั้น ตามที่รู้กันอยู่. ภิกษุ ท. ! นี้ เราเรียกว่า ผู้แบกของหนัก.

ภิกษุ ท. ! อะไรเล่า ชื่อว่า การแบกของหนัก ? ภิกษุ ท. ! ตัณหานี้ใด ที่ทำให้มีการเกิดอีก อันประกอบด้วยความกำหนัดเพราะอำนาจแห่งความเพลิน ซึ่งมีปกติทำให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ, ได้แก่ ตัณหาใน
กาม ตัณหาในความมีความเป็น ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น. ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า การแบกของหนัก.

- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๓๒/๔๙-๕๑.

จิตมีตัณหา เรียกว่าอยู่สองคน

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อน
สอง พระเจ้าข้า ?”
มิคชาละ ! รูป ทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ อันเป็นรูปที่น่า ปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่. ถ้าหากว่าภิกษุย่อม
เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้ ;แก่ภิกษุผู้เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นอยู่ นั่นแหละ, นันทิ (ความเพลิดเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น.เมื่อนันทิ มีอยู่, สาราคะ (ความกำหนัดกล้า) ย่อมมี ;เมื่อสาราคะ มีอยู่, สัญโญคะ (ความผูกจิตติดกับอารมณ์) ย่อมมี ; 

มิคชาละ ! ภิกษุผู้ ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน นั่นแล เราเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง”. (ในกรณีแห่ง เสียง ทั้งหลายอันจะพึงได้ยินด้วยหูก็ดี, กลิ่น ทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูก ก็ดี, รส ทั้งหลายอันจะพึงลิ้มด้วยลิ้นก็ดี, โผฏฐัพพะ ทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกายก็ดี, และธรรมารมณ์ ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจก็ดี, พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้มีนัยยะอย่างเดียวกัน กับในกรณีแห่งรูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นด้วยจักษุ).

มิคชาละ ! ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะส้องเสพเสนาสนะ อันเป็นป่าและป่าชัฏ ซึ่งเงียบสงัด มีเสียงรบกวนน้อย มีเสียงกึกก้องครึกโครมน้อย ปราศจากลมจากผิวกายคน เป็นที่ทำการลับของมนุษย์ เป็นที่สมควรแก่การหลีกเร้น เช่นนี้แล้วก็ตาม, ถึงกระนั้น ภิกษุนั้นเราก็ยังคงเรียกว่าผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสองอยู่นั่นเอง. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสองของภิกษุนั้น ; ตัณหานั้น อันภิกษุนั้นยังละไม่ได้แล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นเราจึงเรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง ดังนี้.

- สฬา. สํ. ๑๘/๔๓/๖๖.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น