วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

อานิสงค์ของการแผ่เมตตา ๑๑ ประการ

 อานิสงค์ของการแผ่เมตตา ๑๑ ประการ




โสปากะสามเณร ผู้เกิดในป่าช้า บรรลุอรหันต์ในป่าช้า และสอนศิษย์ให้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร ท่านได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุขณะมีวัยเพียง ๗ ขวบ
เรื่องสามเณรโสปากะ ผู้มีทั้งบุญ และบาปเป็นบุพกรรมตามมาเกื้อหนุนแต่ท่านก็หาได้ประมาทในเพศและวัย ดังที่จะขอกล่าวดังต่อไปนี้ครับ ท่านโสปากสามเณรเมื่อแรกเริ่ม ท่านได้มาอุบัติปฎิสนธิในครรภ์ของสตรีทุคคตเข็ญใจคนหนึ่ง ในนครสาวัตถี ด้วยผลของกรรม ที่ได้กระทำไว้ในกาลปางก่อน ติดตามมาทันอำนวยผลมารดาของทารก เมื่อมีครรภ์ถ้วนสิบเดือนแล้ว และไม่ได้ถนอมครรภ์ไว้ให้ดี เมื่อวันจะคลอดบุตรก็ไม่อาจจะคลอดได้ สตรีนั้นก็สลบไป บรรดาญาติของสตรีนั้น สำคัญว่าสตรีนั้นตายแล้ว จึงนำไปยังป่าช้ายกขึ้นวางบนเชิงตะกอน จุดเพลิงแล้วหลีกไป ด้วยบุญบารมีที่ท่านเคยสั่งสมมาในอดีตชาติจึงเกิดมีฝนห่าใหญ่ตกลงมา ไฟนั้นจึงมิได้เผาผลาญเด็กทารก เนื้อท้องได้แตกออกจากครรภ์ หาอันตรายมิได้ แต่มารดาทารกนั้นกระทำกาลกิริยาตาย โสปากะท่านจึงเป็นเด็กกำพร้า ผู้เฝ้าป่าช้าได้นำทารกไปเลี้ยง จึงถูกตั้งนามว่า “โสปากะ” แปลว่า “ผู้เกิดในป่าช้า”
เมื่อเจริญวัยขึ้นมีอายุได้ ๗ ขวบ โสปากะเด็กน้อยมีเรื่องทะเลาะกับลูกของผู้เฝ้าป่าช้า อันว่าลูกเลี้ยงทำอย่างไรก็เป็นผิดเสมอ จึงถูกพ่อเลี้ยงจับไปผูกทิ้งไว้ให้อยู่กับศพในป่าช้า (ถ้าเป็นปัจจุบันก็เอาไปทิ้งถังขยะ) ด้วยท่านยังเด็ก พอฟ้าเริ่มมืดลงจึงได้ส่งเสียงร้องไห้จนดังลั่นป่า อันว่าป่าช้าผีดิบ นอกจากซากศพแล้วก็ยังมีสัตว์ร้ายที่คอยมากินซาก เช่น ฝูงแร้ง นกกา และสุนัขจิ้งจอก เสียงร้องของเด็กน้อยโสปากะนั้น ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นเรียกให้สุนัขจิ้งจอกนั้นเข้ามาหา แต่ด้วยบุญเก่าที่ได้สั่งสมมาจนเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ทำให้เด็กน้อยโสปากะอยู่ในข่ายพระญาณของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์จึงเสด็จมาที่ป่าช้า เพื่อโปรดโสปากะเด็กน้อยให้พ้นภัย ทันทีที่เห็นพระบรมศาสดา เด็กน้อยเกิดจิตเลื่อมใส ปรารถนาที่จะบรรพชา(ในมุมมองของผม ผมว่าเด็กน้อยคงประทับใจที่มีคนมาช่วยชีวิต จึงอยากติดตามผู้ที่มีจิตเมตตา ใครอยากจะมีชีวิตอยู่กับผู้ดุร้าย แม้เป็นเด็กน้อยก็เถอะ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นเหตุในอดีต โสปากะนี้เป็นเด็กกำพร้าแต่มีพ่อเลี้ยงอยู่ จึงพาเด็กน้อยไปขออนุญาต เมื่อโสปากะบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับอนิจจสัญญา ทำให้เด็กน้อยซาบซึ้งและแทงตลอดในเรื่องนั้น พระผู้มีพระภาคทรงประทานการบวชให้ หลังจากบรรพชาก็บำเพ็ญสมณธรรม และสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในป่าช้านั่นเอง
๏ ประทานการบวชแก่โสปากะเป็นพระภิกษุด้วยปัญหาพยากรณ์
โสปากะสามเณร ผู้จงกรมตามเสด็จอยู่ในบุพพาราม ได้รับการประทานการอุปสมบทเป็นพระภิกษุขณะท่านอายุเพียงแค่ ๗ ขวบเท่านั้น ได้แก่อุปสัมปทาที่ทรงอนุญาตแก่โสปากะสามเณร ด้วยการถามตอบปัญหาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ชื่อว่า “ปัญหาพยากรณอุปสัมปทา” พระพุทธองค์ทรงตรัสถามแบบอะไรเอ่ย แก่สามเณรน้อย ๑๐ ข้อ ดังนี้

อะไรเอ่ยชื่อว่า ๑ สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร.
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๒ นามและรูป.
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๓ เวทนา ๓. (คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑)
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๔ อริยสัจ ๔. (คือ ทุกข์๑ สมุทัย๑ นิโรธ๑ มรรค๑)
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๕ อุปาทานขันธ์ ๕. (คือ รูป๑ เวทนา๑ สัญญา๑ สังขาร๑ วิญญาณ๑)
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๖ อายตนะภายใน ๖. (คือ ตา๑ หู๑ จมูก๑ ลิ้น๑ กาย๑ ใจ๑)
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๗ โพชฌงค์ ๗. (สติ๑ ธรรมะ๑ วิริยะ๑ ปีติ๑ ปัสสัทธิ๑ สมาธิ๑ อุเบกขา๑)
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘. (สัมมาทิฏฐิ๑ สัมมาสังกัปปะ๑ สัมมาวาจา๑ สัมมากัมมันตะ๑ สัมมาอาชีวะ๑ สัมมาวายามะ๑ สัมมาสติ๑ สัมมาสมาธิ๑)
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๙ สัตตาวาส ๙. (คือ ที่อยู่อาศัยของสัตวโลกที่ยังข้องอยู่ได้แก่ กามโลก๑ คือ เทวโลก มนุสสโลก อบายโลก ที่อยู่อาศัยของพรหมผู้สำเร็จรูปฌานคือพรหม ๔ ที่อยู่อาศัยของอรูปพรหมผู้สำเร็จอรูปฌานคืออรูปพรหม ๔ รวมทั้งสิ้นเป็น ๙ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตวโลก ส่วนพระขีณาสพเจ้าทั้งหลาย ย่อมพ้นจากที่อยู่ของสัตว์ ไม่ต้องอยู่ใน ๙ ที่นี้)

อะไรเอ่ยชื่อว่า ๑๐ ท่านผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ เรียกว่าพระอรหันต์.(อันประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ ในอริยมรรค และเพิ่ม สัมมาญาณ เป็นองค์ที่ ๙ และ สัมมาวิมุตติ เป็นองค์ที่ ๑๐)

โสปากะสามเณรนั้น ทูลแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทานสาธุการแก่เธอ แล้วตรัสถามว่า “เธอมีอายุเท่าไหร่แล้วโสปากะ”

สามเณรทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า! หม่อมฉันมีอายุได้ ๗ ขวบขอรับ”

พระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระหฤทัยอันโสปากสามเณรให้ยินดีว่า “โสปากะ” เธอแก้ปัญหาทัดเทียมกับสัพพัญญุตญาณของเรา แล้วจึงทรงประทานอนุญาตให้อุปสมบท การอุปสมบทนี้มีชื่อว่า “ปัญหาพยากรณอุปสัมปทา” สุปากะจึงเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์ในวัยเพียงแค่ ๗ ขวบเท่านั้น

๏ พระธรรมวาจานุสรณ์

“เราได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่านรชน เป็นบุรุษอุดม เสด็จจงกรมอยู่ที่ร่มเงาหลังพระคันธกุฎี จึงเข้าไปเฝ้าถวายบังคม ณ ที่นั้น เราห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือเดินตามพระพุทธองค์ผู้ปราศจากกิเลสธุลี ผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง ลำดับนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสถามปัญหาแก่เรา เราเป็นผู้ฉลาด รอบรู้ปัญญาทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีความหวาดหวั่นและไม่กลัวได้พยากรณ์แด่พระศาสดา เมื่อเราวิสัชนาปัญหาแล้ว พระตถาคตทรงอนุโมทนา ทรงทอดพระเนตรหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสยกย่องเราต่อหน้าภิกษุทั้งหลาย มีเนื้อความว่า...

“โสปากภิกษุนี้บริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยของชาวอังคะและชาวมคธเหล่าใด ก็เป็นลาภของชาวอังคะและชาวมคธเหล่านั้น อนึ่ง ได้ตรัสว่า เป็นลาภของชาวอังคะและชาวมคธที่ได้ต้อนรับและทำสามีจิกรรม แก่โสปากภิกษุ ดูก่อน โสปากะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ให้เธอเข้ามาหาเราได้ ดูก่อน โสปากะ การวิสัชนาปัญหานี้จงเป็นการอุปสมบทของเธอ เรามีอายุได้ ๗ ปี แต่เกิดมา ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ทรงร่างกายอันมีในที่สุด น่าอัศจรรย์จริง ความที่ธรรมเป็นกรรมดี”

๏ พระโสปากเถระเจ้าอบรมเมตตากรรมฐานแก่ศิษย์ผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร

พระโสปากะเถระ ท่านเป็นภิกษุผู้ฉลาดในการทูลตอบปัญหาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นผู้ยินดีในฌานอันประกอบด้วยเมตตาธรรม เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุบาย เพื่อให้ได้มรรคผล เมื่อท่านพระโสปากะเป็นพระเถระแล้ว ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาบริวารมาก เมื่อพระภิกษุผู้เป็นลูกศิษย์ทั้งหลาย ผู้ประกอบในโสสานิกังคะธุดงค์(การอยู่ป่าช้าเป็นวัตร) ท่านได้อบรมศิษย์ให้เจริญเมตตาธรรม แผ่เมตตาโดยไม่มีประมาณ จึงกล่าวเป็นพระคาถาว่า... “ภิกษุประกอบด้วยอัชฌาสัยแสวงหาประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง พึงแผ่เมตตาจิตให้เสมอในสัตว์ทั้งปวง กระทำอาการให้เหมือนด้วยมารดาบิดามีความเมตตาในบุตร ธรรมดาบิดามารดาทั้งหลาย ที่มีบุตรผู้เดียวเป็นที่รักที่เจริญใจ พึงแสวงหาความเกษมสุข สวัสดิภาพ และประโยชน์คุณความดีให้แก่บุตรผู้เดียว อันเป็นที่รักใคร่นั้น โดยส่วนเดียวฉันใด ภิกษุผู้มีอัชฌาสัยอันประกอบไปด้วยเมตตา แสวงหาประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายนั้น พึงแสวงหาประโยชน์อันเกื้อกูลคือ ความสุข และสวัสดิภาพให้เสมอไปในสรรพสัตว์ทั้งปวง อันตั้งอยู่ในทิศต่าง ๆ และอยู่ในภพต่าง ๆ และอยู่ในวัยต่าง ๆ โดยส่วนเดียวให้เสมอไปไม่เลือกหน้า อย่าพึงกระทำเขตแดนนี้ว่า ผู้นี้เป็นมิตร หรือว่าเป็นศัตรู พึงเจริญเมตตาจิตให้เป็นอันเดียวด้วยกำหนดที่ทำลายเสียซึ่งเขตแดน..”

๏ อานิสงค์ของการแผ่เมตตา ๑๑ ประการ
เมื่อพระเถระกล่าวพระคาถาดังนี้แล้วจึงให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งปวงจงเจริญเนือง ๆ ประกอบเนือง ๆ ในเมตตาภาวนา เมตตาอานิสงส์มี ๑๑ ประการ คือ
๑. หลับเป็นสุข
๒. ตื่นเป็นสุข
๓. ไม่ฝันร้าย
๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖. เทวดาย่อมรักษา
๗. ไฟ ยาพิษ ศัสตรา ไม่ล่วงเกิน
๘. จิตได้สมาธิเร็ว
๙. สีหน้าผ่องใส
๑๐. ไม่หลงตาย
๑๑. เมื่อยังไม่บรรลุ ธรรม ย่อมเข้าถึงพรหมโลกชั้นสูง
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาไว้นั้น ท่านทั้งหลายจะพึงเป็นบุคคล มีส่วนของเมตตานิสงส์ ๑๑ ประการ นั้นในส่วนเดียว

๏ บุพกรรมที่พระโสปากเถระเคยบำเพ็ญมาในอดีตชาติ

วันหนึ่งท่านพระโสปากเถระเจ้า ได้กล่าวธรรมภาษิตถึงบุพกรรมในอดีตชาติที่เคยได้สั่งสมบุญบารมีไว้แล้ว (ธรรมภาษิตนี้มีปรากฏอยู่ใน โสปากเถราปทาน) ความว่า... "องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค ทรงพระนามว่า “สิทธัตถะ” (เป็นพระนามของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆที่มีพระนามคล้ายเจ้าชายสิทธัตถะ) ได้ตรัสความที่สังขารเป็นของไม่เที่ยงว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป เป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับย่อมเป็นสุข พระสัพพัญญูเชษฐบุรุษของโลก เป็นพระผู้ประเสริฐ ทรงเป็นนักปราชญ์ ตรัสดังนี้แล้ว เสด็จเหาะขึ้นในอากาศ ดังพญาหงส์ในอัมพร เราละทิฏฐิของตน เจริญอนิจจสัญญาได้ในวันเดียว ก็ทำกาละ ณ ที่นั้นเอง ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายอาสนะดอกไม้ ในกัปป์ที่ ๙๔ แต่ กัปป์นี้ เราได้เจริญสัญญาใดในกาลนั้น เราเจริญสัญญานั้นอยู่ได้บรรลุอาสวขัยแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเราได้ทำเสร็จแล้ว"
ท่านโสปากเถระเจ้า ท่านมีอภินิหารได้บำเพ็ญมาแล้ว ในสำนักของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในกาลปางก่อนแล้ว และได้สั่งสมกองการกุศลไว้อันเป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพาน ในภพนั้น ๆ เป็นอันมาก ครั้นมาในกาลพระศาสนาของพระกกุสันธพุทธเจ้า ท่านได้มาบังเกิดเป็นบุตรของกฎุมพีผู้หนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งกุลบุตรได้เห็นพระบรมศาสดา จึงน้อมนำผลไม้เข้าไปถวาย พระบรมศาสดาทรงรับไว้ กุลบุตรนั้นก็ยิ่งมีความเลื่อมใสในพระภิกษุสงฆ์ จึงได้ตั้งสลากภัตทานแก่ภิกษุสงฆ์ ก็ได้ถวายขีรภัตคือ จังหันอันเจือด้วยนมสด แก่พระภิกษุทั้งหลายวันละสามรูป ตราบสิ้นอายุของตน กุลบุตรนั้น เมื่อท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลก และมนุษยโลกสิ้นกาลช้านาน ในกาลครั้งหนึ่งได้มาบังเกิดในกำเนิดของมนุษย์ ก็ได้ถวายภัตตาหารที่เจือด้วยน้ำนมสด แก่พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
ครั้นมาในกาลพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าของเรานี้ ท่านได้มาอุบัติปฎิสนธิในครรภ์สตรีทุกคตเข็ญใจคนหนึ่งในนครสาวัตถี ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ท่านพระโสปากเถระเจ้า เมื่อมีอายุสังขารถ้วนกาล ท่านก็ดับวิบากขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุดับสิ้นเชิง หาตัณหาและอุปาทาน ซึ่งจะเป็นเชื้อเหลืออยู่มิได้ เป็นอนุปัตถินิโรธ ไม่บังเกิดอีกในภพเบื้องหน้า ดุจเปลวประทีปอันสิ้นไส้และดับไป
อันเนื่องการแผ่เมตตา ที่พระสุปากเถระสอนศิษย์ให้รู้จักการแผ่เมตตาเมื่อจะเข้าไปธุดงค์อยู่ในป่าช้า และอานิสงค์การแผ่เมตตานั้น คงเป็นเพราะท่านเจริญในเมตตาธรรมเป็นกรรมฐาน ถึงได้มีเหตุการณ์ในชีวิตเมื่อถึงวิบากกรรมทีไร ก็มักจะมีบุญมาค้ำชูเกื้อหนุนอยู่เสมอๆ ผมจึงขอนำบท “พระคาถาเมตตาหลวง” พระคาถาบทนี้ องค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านมักจะใช้ภาวนาเจริญเมตตา ไปยังสรรพสัตว์ไม่มีประมาณ ให้หมู่มนุษย์ และเทวดาได้รับความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน พระคาถาบทนี้ หลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล ได้รับถ่ายทอดไว้ และได้มอบให้กับพระญาณสิทธาจารย์ หรือหลวงปู่เมตตาหลวง (สิงห์ สุนทโร) แห่งวัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อใช้เป็นบทเจริญเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั่วทุกทิศานุทิศ พระคาถาเมตตาหลวงนี้เป็นการเจริญกรรมฐานที่มีอานิสงส์ ทำให้จิตตั้งมั่นได้ถึงระดับ อัปปนาสมาธิ คือ เมตตา กรุณา มุฑิตา จิตสามารถตั้งมั่นในระดับฌาณ ๓ ส่วน อุเบกขา จิตสามารถตั้งมั่นในฌาณ ๔ ในหมวดกรรมฐาน ๔๐ กอง บทนี้เรียกว่า พรหมวิหาร ๔ หรือ อัปปมัญญา ๔ พระคาถาเมตตาหลวง ประกอบด้วย บทเมตตา กรุณา มุฑิตา และอุเบกขา และแผ่เมตตาเป็น ๓ สถาน คือ แผ่แบบ อโนทิศ , โอทิศ และ ทิสาผรณะ คือ แผ่เมตตามิได้เฉพาะก็ดี เฉพาะก็ดี แผ่ทั่วทิศทั้ง ๑๐ ก็ดี มีเมตตาจิตให้เป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งปวงเบื้องบนถึงภวัคคพรหมเป็นที่สุด เบื้องต่ำตลอดอเวจีนรก โดยปริมณฑลทั่วอนันตสัตว์อันอยู่ในอนันตจักรวาล

๑.คำสวดแผ่เมตตา (ย่อ)
๑.สัพเพ สัตตาอะเวรา อัพพะยาปัชณา อะนีฆา สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ๒.สัพเพ ปาณาอะเวรา อัพพะยาปัชณา อะนีฆา สุขี อัตตานังปะริหะรันตุ ๓.สัพเพ ภูตาอะเวรา อัพพะยาปัชณา อะนีฆา สุขี อัตตานังปะริหะรันตุ ๔.สัพเพ ปุคคะลาอะเวรา อัพพะยาปัชณา อะนีฆา สุขี อัตตานังปะริหะรันตุ ๕.สัพเพ อัตตะภาวะปะริยาปันนาอะเวรา อัพพะยาปัชณา อะนีฆา สุขี อัตตานังปะริหะรันตุ ๖.สัพพา อิตถิโยอะเวรา อัพพะยาปัชณา อะนีฆา สุขี อัตตานังปะริหะรันตุ ๗.สัพเพ ปุริสาอะเวรา อัพพะยาปัชณา อะนีฆา สุขี อัตตานังปะริหะรันตุ ๘.สัพเพ อะริยาอะเวรา อัพพะยาปัชณา อะนีฆา สุขี อัตตานังปะริหะรันตุ ๙.สัพเพ อะนะริยาอะเวรา อัพพะยาปัชณา อะนีฆา สุขี อัตตานังปะริหะรันตุ ๑๐.สัพเพ เทวาอะเวรา อัพพะยาปัชณา อะนีฆา สุขี อัตตานังปะริหะรันตุ ๑๑.สัพเพ มนุสสาอะเวรา อัพพะยาปัชณา อะนีฆา สุขี อัตตานังปะริหะรันตุ ๑๒.สัพเพ วินิปาติกาอะเวรา อัพพะยาปัชณา อะนีฆา สุขี อัตตานังปะริหะรันตุ

๒.คำสวดแผ่กรุณา (ย่อ)
๑.สัพเพ สัตตาสัพพะทุกขา ปะมุญจันตุ ๒.สัพเพ ปาณาสัพพะทุกขา ปะมุญจันตุ ๓.สัพเพ ภูตาสัพพะทุกขา ปะมุญจันตุ ๔.สัพเพ ปุคคะลาสัพพะทุกขา ปะมุญจันตุ ๕.สัพเพ อัตตะภาวะปะริยาปันนาสัพพะทุกขา ปะมุญจันตุ ๖.สัพพา อิตถิโยสัพพะทุกขา ปะมุญจันตุ ๗.สัพเพ ปุริสาสัพพะทุกขา ปะมุญจันตุ ๘.สัพเพ อะริยาสัพพะทุกขา ปะมุญจันตุ ๙.สัพเพ อะนะริยาสัพพะทุกขา ปะมุญจันตุ ๑๐.สัพเพ เทวาสัพพะทุกขา ปะมุญจันตุ ๑๑.สัพเพ มนุสสาสัพพะทุกขา ปะมุญจันตุ ๑๒.สัพเพ วินิปาติกาสัพพะทุกขา ปะมุญจันตุ
๓.คำสวดแผ่มุทิตา (ย่อ)
๑.สัพเพ สัตตาลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ๒.สัพเพ ปาณาลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ๓.สัพเพ ภูตาลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ๔.สัพเพ ปุคคะลาลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ๕.สัพเพ อัตตะภาวะปะริยาปันนาลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ๖.สัพพา อิตถิโยลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ๗.สัพเพ ปุริสาลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ๘.สัพเพ อะริยาลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ๙.สัพเพ อะนะริยาลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ๑๐.สัพเพ เทวาลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ๑๑.สัพเพ มนุสสาลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ๑๒.สัพเพ วินิปาติกาลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ
๔.คำสวดแผ่อุเบกขา (ย่อ)
๑.สัพเพ สัตตากัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนี กัมมะ พันธุ กัมมะปะฏิสะระณา ยัง, กัมมัง , กะริสสันติ กัลละยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ
๒.สัพเพ ปาณากัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนี กัมมะ พันธุ กัมมะปะฏิสะระณา ยัง, กัมมัง , กะริสสันติ กัลละยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ
๓.สัพเพ ภูตากัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนี กัมมะ พันธุ กัมมะปะฏิสะระณา ยัง, กัมมัง , กะริสสันติ กัลละยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ
๔.สัพเพ ปุคคะลากัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนี กัมมะ พันธุ กัมมะปะฏิสะระณา ยัง, กัมมัง , กะริสสันติ กัลละยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ
๕.สัพเพ อัตตะภาวะปะริยาปันนากัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนี กัมมะ พันธุ กัมมะปะฏิสะระณา ยัง, กัมมัง , กะริสสันติ กัลละยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ
๖.สัพพา อิตถิโยกัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนี กัมมะ พันธุ กัมมะปะฏิสะระณา ยัง, กัมมัง , กะริสสันติ กัลละยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ
๗.สัพเพ ปุริสากัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนี กัมมะ พันธุ กัมมะปะฏิสะระณา ยัง, กัมมัง , กะริสสันติ กัลละยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ
๘.สัพเพ อะริยากัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนี กัมมะ พันธุ กัมมะปะฏิสะระณา ยัง, กัมมัง , กะริสสันติ กัลละยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ
๙.สัพเพ อะนะริยากัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนี กัมมะ พันธุ กัมมะปะฏิสะระณา ยัง, กัมมัง , กะริสสันติ กัลละยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ
๑๐.สัพเพ เทวากัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนี กัมมะ พันธุ กัมมะปะฏิสะระณา ยัง, กัมมัง , กะริสสันติ กัลละยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ
๑๑.สัพเพ มนุสสากัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนี กัมมะ พันธุ กัมมะปะฏิสะระณา ยัง, กัมมัง , กะริสสันติ กัลละยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ
๑๒.สัพเพ วินิปาติกากัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนี กัมมะ พันธุ กัมมะปะฏิสะระณา ยัง, กัมมัง , กะริสสันติ กัลละยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ

ภาพประกอบ จากอาจารย์อนันท์ ราชวังอินทร์ ขออนุญาตแชร์และอนุโมทนาบุญมา ณ โอกาสนี้เจริญพร..สาธุ

ขอบคุณเฟส ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน ที่เอื้อำนวยในการสืบค้นครับ..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น