การเรียนการศึกษา


วิปัสสนากรรมฐาน คือ กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา, กรรมฐานทำให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริง หมายถึงการปฏิบัติธรรมที่ใช้สติเป็นหลัก


วิปัสสนากรรมฐานบำเพ็ญได้ โดยการพิจารณาสภาวธรรมหรือนามรูป คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะอินทรีย์ให้เห็นตามความเป็นจริง คือ เห็นด้วยปัญญาว่าสภาวธรรมเหล่านี้ ตกอยู่ในสามัญลักษณะหรือไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่มุ่งอบรมปัญญาเป็นหลักคู่กับ สมถกรรมฐาน ซึ่งมุ่งบริหารจิตเป็นหลัก ในคัมภีร์ทางพระศาสนาทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาทั่ว ๆ ไปมักจัดเอาวิปัสสนาเป็นแค่ สุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา เพราะในวิภังคปกรณ์พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างนั้น ทั้งนี้ก็ยังพอจะอนุโลมเอาวิปัสสนาว่าเป็นภาวนามยปัญญา[ต้องการอ้างอิง] ได้อีกด้วย เพราะในฎีกาหลายที่ท่านก็อนุญาตไว้ให้ ซึ่งท่านคงอนุโลมเอาตามนัยยะพระสูตรอีกทีหนึ่ง และในอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรคท่านก็อนุโลมให้เพราะจัดเข้าได้ในภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุข้อ 10.


รายละเอียดวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน หรือการเจริญปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่ การปฏิบัติตามสติปัฏฐาน 4 ดังบรรยายไว้โดยละเอียดในมหาสติปัฏฐานสูตร ในพระไตรปิฎก

ระหว่างปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อผู้ปฏิบัติกำลังมนสิการขันธ์ 5 อย่างหนึ่งอย่างใดอยู่โดยไตรลักษณ์ ผู้ปฏิบัติอาจเกิดวิปัสสนูปกิเลส (คือ อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา 10 อย่าง) ชวนผู้ปฏิบัติให้เข้าใจผิด คิดว่าตนได้มรรคผลแล้ว คลาดออกนอกวิปัสสนาวิถีได้



การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา
วิปัสสนาภาวนา คือ การฝึกควบคุมจิตเพื่อแสวงหาปัญญาซึ่งจัดว่าเป็นลักษณะพิเศษในทางพุทธศาสนา แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท ประเภทแรกเรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ เป็นการปฏิบัติวิปัสสนาโดยการนำสมาธิในระดับแรกๆ ที่อยู่ระหว่าง ขณิกสมาธิ กับ อุปจรสมาธิ มาเป็นฐานร่วมปฏิบัติกับการนำตัว สติปัฏฐาน ๔ มาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปฏิบัติภาวนา

วิปัสสนาภาวนาในแบบที่สอง เรียกว่า สมถวิปัสสนา หรือ สมาธิวิปัสสนา เป็นวิปัสสนาที่ต่อจากอัปปนาสมาธิภาวนาได้ณานซึ่งเป็นการทำสมาธิที่จิตถูกควบคุมด้วยพลังความตั้งใจอย่างสูงเพื่อเข้าสู่สภาวะของความวิเวก อันเป็นสมาธิที่สามารถทำให้จิตอยู่ในสภาพการเตรียมพร้อมแก่งานในทุกกรณี รวมทั้งการนำ สติปัฏฐาน และ สมาธิ ๓ มาพิจารณาเพื่อการเข้าถึงความเป็นจริงในธรรมชาติ


ดังที่กล่าวมาแล้วว่า การปฏิบัติสมาธิภาวนามีเป็น ๒ ระดับ กล่าวคือ การทำสมาธิ กับการปฏิบัติวิปัสสนา ในการทำสมาธิให้จิตอยู่นิ่งนั้นจำเป็นที่ผู้ปฏิบัติจะต้องแสวงหาสถานที่ที่เหมาะสม เช่นการปลีกตัวจากสังคมทั่วไปในระดับหนึ่งเพื่อแสวงหาสถานที่สงบสงัดและพ้นจากหน้าที่การงานและสิ่งรบกวนต่างๆ ในชั่วระยะหนึ่ง

ส่วนการปฏิบัติวิปัสสนา จะมีความแตกต่างตรงข้ามกับการทำสมาธิภาวนาตรงที่การปฏิบัติวิปัสสนาไม่มีความจำเป็นที่ผู้ปฏิบัติจะต้องอยู่ในบรรยากาศสงบ สงัด หรือต้องปลีกตัวจากผู้คนและการงาน การปฏิบัติเพียงอย่างเดียวนั้นจะได้ประโยชน์ในระดับหนึ่งในตอนแรกๆ แต่ก็เป็นการปฏิบัติเพียงอย่างเดียวนั้นจะได้ประโยชน์ในระดับหนึ่งในตอนแรกๆ แต่ก็เป็นการปฏิบัติเพียงเพื่อให้จิตเข้าสู่ความสงบในภาวะที่เป็นเอกัคคตา แตกต่างจากการปฏิบัติวิปัสสนาที่จำเป็นต้องนำส่วนประกอบที่เป็นประสบการณ์เบื้องต้น โดยเฉพาะการนำสัมมาสติมาใช้ในกระบวนการภาวนา

โดยนัยนี้ การปฏิบัติวิปัสสนาจึงสามารถทำได้ตลอดเวลา โดยการนำเอา กาย เวทนา จิต และ ธรร ม มาเป็นปัจจัยต่อการเพ่งพิจารณา ซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถนำมาใช้ได้ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่แม้ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ยังไม่พร้อมเป็นอิสระจากการทำงาน จึงอาจกล่าวได้ว่าการทำวิปัสสนาด้วยวิธีนี้สามารถทำได้ในทุกเวลา ทุกสถานที่ และทุกเหตุการณ์

การทำสมาธิกับการฝึกวิปัสสนามีเป้าประสงค์ที่แตกต่างกัน สมาธิเป็นการปฏิบัติเพื่อแสวงหาความสงบ ความเป็นเอกัคคตา เพื่อสร้างพลังจิตและเพื่ออภิญญา ส่วนการปฏิบัติวิปัสสนา มีความมุ่งหมายเพื่อการรับรู้ เพื่อทำจิตให้บิสุทธิ์และเพื่อนิพพาน

ในการทำปฏิบัติวิปัสสนา สติปัฏฐาน ๔ เป็นตัวสำคัญในการนำมาใช้เพ่งพิจารณาตามความเหมาะสมกับสถานการณ์และกับจริยะ หรือ จริต ของแต่ละบุคคลที่จะเลือกใช้หัวข้อต่อไปนี้ในขณะภาวนา คือ การพิจารณาร่างกาย ( กายานุปัสสนา ) การพิจารณาอารมณ์ ( เวทนานุปัสสนา ) การพิจารณาจิตใจ ( จิตตานุปัสสนา ) และการพิจารณาในองค์ธรรม ( ธรรมานุปัสสนา )

ผู้ที่เริ่มต้นฝึกวิปัสสนาสมาธิส่วนใหญ่ ควรเริ่มจากการพิจารณาในกาย เช่น การเฝ้าสังเกตลมหายใจเข้าออกเสียก่อนจนเกิดความชำนาญในการปฏิบัติแล้ว จึงอาจเปลี่ยนไปพิจารณาเกี่ยวกับอิริยาบถ อื่นของร่างกาย เช่น การเฝ้าพิจารณาติดตามดูการเปลี่ยนแปลงในอารมณ์ต่างๆ ติดตามพิจารณาการทำงานของจิตและพิจารณาในองค์ธรรมตามลำดับความเหมาะสมควรแก่งานและกิจวัตรประจำวันของ แต่ละบุคคล

อันดับแรก ได้แก่ กายานุปัสสนา เป็นการเพ่งพิจารณาติดตามดูรู้ทันในกาย เช่นการฝึกอานาปานสติด้วยการเฝ้าสังเกตลมหายใจเข้าออกว่า สั้น ยาว ตื้น ลึก ประณีต หยาบ สม่ำเสมอ ต่อไป เป็นการเฝ้าสังเกตอิริยาบถในขณะ นั่ง นอน ยืน เดิน กิน ดื่ม การใช้สัมปชัญญะเฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหวขณะปฏิบัติงาน พิจารณาปฏิกูลภายในร่างกาย การพิจารณาร่างกายโดยแยกให้เห็นว่าเป็นเพียงสิ่งที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ หรือ การพิจารณาศพที่อยู่ในสภาพต่างๆ อันเป็นสัจธรรมที่เราทุกคนจะต้องพบ

อันดับสอง ได้แก่ เวทนานุปัสสนา เป็นการติดตามเพ่งพิจารณาในอารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติภาวนาว่า อยู่ในภาวะที่สุขน่าอยู่น่าพอใจ ทุกข์ ไม่น่าอยู่ไม่พอใจ หรืออยู่ในอารมณ์กลางๆ โดยนำสติและสัปชัญญะมาพิจารณาขณะเกิดขึ้น ทำความเข้าใจในปรากฏการณ์ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นและดับไปนั้นว่า มันเป็นเพียงสังขตธรรมที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งตามกฏแห่งเหตุปัจจัย ไม่ใช่เกิดจากการยึดถือเอาว่า " นั่นเป็นตัวเรา เป็นวิญญาณของเรา หรือเป็นอารมณ์ของเรา " ซึ่งพระพุทธองค์ทรงถือว่าเป็นมจฉาทิฏฐิ ผู้ปฏิบัติจะต้องหมั่นฝึกพิจารณาด้วยการติดตามเฝ้าสังเกตถึงความเป็นจริงในสัจธรรมข้อนี้ให้ได้ว่า มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางจิตอย่างหนึ่งที่มีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลาอันเนื่องมาจากเหตุปัจจัย นอกจากนี้การพิจารณาในอารมณ์ต่างๆ จะต้องระมัดระวังในขณะพิจารณาไตร่ตรองธรรมชาติของการเกิดดับ ด้วยการไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นเมื่อทำได้เช่นนั้นก็เท่ากับเราสามารถควบคุมอารมณ์ต่างๆ ได้จากการฝึกเวทนานุปัสสนาดังกล่าวแล้ว

อันดับสาม ได้แก่ จิตตานุปัสสนา หมายถึงการเฝ้าติดตามดูรู้ทันในปฏิกิริยาของจิต เพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจรับรู้โดยการติดตามเฝ้าสังเกตการทำงานของจิตในลักษณะต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะนั้น ( ไม่ใช่ในอดีต อนาคต ) เช่น มีราคะ ไม่มีราคะ มีหรือไม่มีโมหะ โทสะ ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ หลุดพ้น หรือไม่อย่างไร โดยไม่นำเอาวิญญาณการรับรู้หรืออารมณ์ความรู้สึกของเราเข้าปควบคุมส่งเสริมหรือตัดสินให้กับสภาวะของจิตในขณะนั้น ด้วยการฝึกเช่นนี้ จะทำให้เราเข้าถึงและยอมรับความจริงแท้ อันจะทำให้จิตหลุดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่นได้อีกวิธีหนึ่ง


การหมั่นฝึกภาวนาโดยวิธีดังกล่าวอยู่ประจำ นอกจากจะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจและรู้จักตัวเองได้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เราสามารถที่จะเจาะลึกลงไปในจิตวิญญาณ เพื่อนำมาใช้ปฏิบัติให้ชีวิตมีแต่ความสงบ สันติ และอยู่อย่างกลมกลืนทั้งกับตนเองและต่อสังคม

อันดับที่สี่ ซึ่งเป็นวิธีสุดท้ายในการนำมาปฏิบัติ ได้แก่การติดตามทำความเข้าใจและรู้ทันในองค์ธรรม ( ธรรมานุปัสสนา ) ในประสบการณ์ทางจริยธรรมและทางจิตวิญญาณ เป็นการปฏิบัติด้วยการนำเอาองค์ธรรมอันเป็นคำสอนของพระพุทธองค์มาใคร่ครวญพิจารณาให้เกิดความกระจ่าง เช่นองค์ธรรมที่เกี่ยวกับ นิวรณ์ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ โพชฌงค์ ๗ และอริยสัจ ๔ ว่า เกิด ดับ อย่างไร และจะละเสียได้อย่างไร จะเจริญเต็มสมบูรณ์ได้อย่างไร เป็นต้นซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่ององค์ธรรมเหล่านี้ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น

กล่าวโดยย่อ วิปัสสนาจะช่วยพัฒนาจิตใจของผู้หมั่นประพฤติให้พ้นจาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง โดยไม่จำเป็นจะต้องหนีโลกที่ตนเองรับผิดชอบ ความมุ่งหมายที่แท้จริงในการปฏิบัติวิปัสสนาก็เพื่อกรเพาะบ่มจิตใจให้เกิดความปีติ ถึงพร้อมด้วยพรหมวิหารธรรม เป็นความปีติที่เกิดขึ้นและหลั่งออกมาจากจิตใจที่ได้รับการฝึก เป็นนิรามิสสุขที่เกิดจากจิตที่สงบ ระงับอยู่เหนือความทะเยอทะยาน ความใคร่อยากหลุดพ้นจากโลกียวิสัยและอยู่เหนือโลกธรรมทั้งหลาย


ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาด้วยการหมั่นฝึกทำจิตให้บริสุทธิ์ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท จึงอยู่เหนือความหวาดกลัวต่อทั้งโลกนี้และโลกหน้า



ความสำคัญของจิต

จิตนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
จิตคือนาย จิตคือผู้สังหาร
วจีกรรมแลกายกรรมทั้งหลาย
อันเนื่องมาจากจิตที่สะอาดบริสุทธิ์
ย่อมนำมาซึ่งความสุขอันประณีต
ประหนึ่งเงาติดตามตัว

พุทธพจน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น