วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิบากกรรมต่างกัน



วิบากกรรมต่างกัน



ทำไมคนที่ทำบาปกรรมอย่างเดียวกัน แต่รับวิบากกรรมต่างกันภิกษุทั้งหลาย !
ใครพึงกล่าวว่า คนทำกรรมอย่างใดๆ ย่อมเสวยกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้
เมื่อเป็นอย่างนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ก็มีไม่ได้ช่องทางที่จะทำที่สุดทุกข์โดยชอบ ก็ไม่ปรากฏ
ส่วนใครกล่าวว่า คนทำกรรมอันจะพึงให้ผลอย่างใดๆ ย่อมเสวยผลของกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้
เมื่อเป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้ช่องทางที่จะทำที่สุดทุกข์โดยชอบก็ย่อมปรากฏ
ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อย ที่บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้
บาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้นบางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย
( ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่รู้เห็นผลได้ทันที )
บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลชนิดไร ทำแล้ว บาปกรรมนั้นจึงนำเขาไปนรกได้ ?
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีกายมิได้อบรม มีศีลมิได้อบรม มีจิตมิได้อบรม มีปัญญามิได้อบรม มีคุณความดีน้อยเป็นอัปปาตุมะ ( ผู้มีใจคับแคบ ใจหยาบ ใจต่ำทราม )เป็นอัปปทุกขวิหารี ( มีปกติอยู่เป็นทุกข์ด้วยเหตุเล็กน้อย คือเป็นคนเจ้าทุกข์ )บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลชนิดนี้ทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้
บาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกัน.บุคคลชนิดไร ทำแล้ว กรรมนั้นจึงเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย ?
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีกายได้อบรมแล้ว มีศีลได้อบรมแล้ว มีจิต…มีปัญญาได้อบรมแล้ว มีคุณความดีมากเป็นมหาตมะ ( ผู้มีใจกว้างขวาง ใจบุญ ใจสูง )เป็นอัปปมาณวิหารี ( มีปกติอยู่ด้วยธรรมอันหาประมาณมิได้ )
บาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้นบุคคลชนิดนี้ทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมาก ต่อไปเลย.
ภิกษุทั้งหลาย !
ต่างว่า คนใส่เกลือลงไปในถ้วยน้ำเล็กๆ หนึ่งก้อน ท่านทั้งหลายจะสำคัญว่ากระไร ?
น้ำอันน้อยในถ้วยน้ำนั้น จะกลายเป็นน้ำเค็มไม่น่าดื่มไป เพราะเกลือก้อนนั้นใช่ไหม ?
“เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า !”
เพราะเหตุไร ?
เพราะเหตุว่า น้ำในถ้วยน้ำนั้นมีน้อย มันจึงเค็มได้…เพราะเกลือก้อนนั้น.
ต่างว่า คนใส่เกลือก้อนขนาดเดียวกันนั้นลงไปในแม่น้ำคงคา ท่านทั้งหลายจะสำคัญว่ากระไร?
น้ำในแม่น้ำคงคานั้นจะกลายเป็นน้ำเค็ม ดื่มไม่ได้ เพราะเกลือก้อนนั้นหรือ ?
“หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า !”
เพราะเหตุไร ?
เพราะเหตุว่า น้ำในแม่น้ำคงคามีมาก น้ำนั้นจึงไม่เค็ม…เพราะเกลือก้อนนั้น.
ฉันนั้นนั่นแหละ.
ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อยบุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำไปนรกได้ ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้นบางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย…
ภิกษุทั้งหลาย !
คนบางคนย่อมผูกพันเพราะทรัพย์ แม้กึ่งกหาปณะ… แม้ 1 กหาปณะ… แม้ 100 กหาปณะส่วนบางคนไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น
คนอย่างไร จึงผูกพันเพราะทรัพย์แม้กึ่งกหาปณะ ฯลฯคนบางคนในโลกนี้เป็นคนจน มีสมบัติน้อย มีโภคะน้อยคนอย่างนี้ย่อมผูกพันเพราะทรัพย์แม้กึ่งกหาปณะ. ฯลฯ
คนอย่างไร ไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น ?คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมากคนอย่างนี้ย่อมไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น
ฉันนั้นนั่นแหละ.
ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อยบุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำไปนรกได้ ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้นบางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย…
ภิกษุทั้งหลาย !
พรานแกะหรือคนฆ่าแกะบางคน อาจฆ่า มัด ย่าง หรือทำตามประสงค์ซึ่งแกะที่ขโมยเขามาได้บางคนไม่อาจทำอย่างนั้น
พรานแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นไร จึงอาจฆ่า มัด ย่าง หรือทำตามประสงค์ซึ่งแกะที่ขโมยเขามาได้ ?
บางคนเป็นคนยากจน มีสมบัติน้อย มีโภคะน้อยพรานแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นนี้ อาจฆ่า ฯลฯ ซึ่งแกะที่ขโมยเขามาได้.
พรานแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นไร ไม่อาจทำอย่างนั้น ?
บางคนเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เป็นพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์
พรานแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นนี้ ไม่อาจทำอย่างนั้น
มีแต่ว่าคนอื่นจะประณมมือขอกับเขาว่า
“ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านโปรดให้แกะหรือทรัพย์ค่าซื้อแกะแก่ข้าพเจ้าบ้าง” ดังนี้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุทั้งหลาย !
บาปกรรมแม้ประมาณน้อยบุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำไปนรกได้
ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้นบางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย…
ภิกษุทั้งหลาย !
ใครกล่าวว่า คนทำกรรมอย่างใดๆ ย่อมเสวยกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้
เมื่อเป็นอย่างนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ก็มีไม่ได้ ช่องทางที่จะทำที่สุดทุกข์โดยชอบ ก็ไม่ปรากฏ
ส่วนใครกล่าวว่า คนทำกรรมอันจะพึงให้ผลอย่างใดๆ ย่อมเสวยผลของกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้
เมื่อเป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้ช่องทางที่จะทำที่สุดทุกข์โดยชอบก็ย่อมปรากฏ
- ติก. อํ. 20/320/540

วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เสขิยวัตร


          เสขิยวัตร หมายถึง วัตรที่ภิกษุสามเณรจะต้องศึกษาธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาทที่ภิกษุสาเณรพึงสำเหนียก หรือพึงฝึกฝนปฏิบัติ เป็นพุทธบัญญัติที่ได้เตือนสติให้ภิกษุสงฆ์สามเณรพึงสำรวมกาย วาจา ใจ เมื่อเข้าไป อยู่ในที่ชุมชนหรือในละแวกบ้านของผู้อื่น เพื่อยังให้เกิดความเลื่อมใสของบุคคลในชุมชนนั้นๆ จะได้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
         เสขิยวัตรนั้น จัดเป็น ๔ หมวด หมวดที่ ๑ เรียกว่า สารูป, หมวดที่ ๒ เรียกว่า โภชนปฏิสังยุต, หมวดที่ ๓ เรียกว่า ธัมมเทสนาปฏิสังยุต, หมวดที่ ๔ เรียกว่า ปกิณณกะ.

หมวดที่ ๑ : สารูป มี ๒๖ ข้อ
(ว่าด้วยความเหมาะสมแก่สมณเพศในการประพฤติปฏิบัติต่อชุมชน)

๑. พึงทำศึกษาว่า "เราจักนุ่งเป็นปริมณฑล."
๒. พึงทำศึกษาว่า "เราจักห่มเป็นปริมณฑล".
๓. พึงทำศึกษาว่า "เราจักปกปิดกายดีไปในละแวกบ้าน".
๔. พึงทำศึกษาว่า "เราจักปกปิดกายดีนั่งในละแวกบ้าน”.
๕. พึงทำศึกษาว่า "เราจักสำรวมดีไปในละแวกบ้าน".
๖. พึงทำศึกษาว่า "เราจักสำรวมดี นั่งในละแวกบ้าน."
๗. พึงทำศึกษาว่า "เราจักมีตาทอดลงไปในละแวกบ้าน."
๘. พึงทำศึกษาว่า "เราจักมีตาทอดลงนั่งในละแวกบ้าน."
๙. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ไปในละแวกบ้านด้วยทั้งเวิกผ้า."
๑๐. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่นั่งในละแวกบ้าน ด้วยทั้งเวิกผ้า."
๑๑. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ไปในละแวกบ้าน ด้วยทั้งความ หัวเราะลั่น."
๑๒. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่นั่งในละแวกบ้าน ด้วยทั้งความหัวเราะลั่น."
๑๓. พึงทำศึกษาว่า "เราจักมีเสียงน้อยไปในละแวกบ้าน."
๑๔. พึงทำศึกษาว่า "เราจักมีเสียงน้อยนั่งในละแวกบ้าน."
๑๕. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่โยกกายไปในละแวกบ้าน."
๑๖. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่โยกกายนั่งในละแวกบ้าน."
๑๗. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ไกวแขนไปในละแวกบ้าน."
๑๘. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ไกวแขนนั่งในละแวกบ้าน"
๑๙. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่โคลงศีรษะไปในละแวกบ้าน."
๒๐. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่โคลงศีรษะนั่งในละแวกบ้าน."
๒๑. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ทำความค้ำไปในละแวกบ้าน."
๒๒. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ทำความค้ำนั่งในละแวกบ้าน."
๒๓. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่คลุม (ศีรษะ) ไปในละแวกบ้าน."
๒๔. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่คลุม (ศีรษะ) นั่งในละแวกบ้าน."
๒๕. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ไปในในละแวกบ้าน ด้วยทั้งความกระโหย่ง."
๒๖. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่นั่งในในละแวกบ้าน ด้วยทั้งความรัดเข่า."

หมวดที่ ๒ : โภชนปฏิสังยุต มี ๓๐ ข้อ
(ว่าด้วยการฉันอาหาร)

๑. พึงทำศึกษาว่า "เราจักรับบิณฑบาตโดยเอื้อเฟื้อ."
๒. พึงทำศึกษาว่า "เราจักจ้องดูอยู่ในบาตรรับบิณฑบาต."
๓. พึงทำศึกษาว่า "เราจักรับบิณฑบาตมีสูปะเสมอกัน.”
๔. พึงทำศึกษาว่า "เราจักรับบิณฑบาตเสมอขอบ."
๕. พึงทำศึกษาว่า "เราจักฉันบิณฑบาตโดยเอื้อเฟื้อ."
๖. พึงทำศึกษาว่า "เราจักจ้องดูอยู่ในบาตรฉันบิณฑบาต."
๗. พึงทำศึกษาว่า "เราจักฉันบิณฑบาตไม่แหว่ง."
๘. พึงทำศึกษาว่า "เราจักฉันบิณฑบาตมีสูปะเสมอกัน."
๙. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ขยุมลงแต่ยอดฉันบิณฑบาต."
๑๐. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่กลบแกงก็ดี กับข้าวก็ดี ด้วยข้าวสุก อาศัยความอยากได้มาก."
๑๑. พึงทำศึกษาว่า "เราไม่อาพาธ จักไม่ขอสูปะก็ดี ข้าวสุกก็ดี เพื่อประโยชน์แก่ตนฉัน."
๑๒. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่เพ่งโพนทะนาแลดูบาตรของผู้อื่น."
๑๓. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก."
๑๔. พึงทำศึกษาว่า "เราจักทำคำข้าวให้กลมกล่อม."
๑๕. พึงทำศึกษาว่า "เมื่อคำข้าวยังไม่นำมาถึง เราจักไม่อ้าช่องปาก."
๑๖. พึงทำศึกษาว่า "เราฉันอยู่ จักไม่สอดมือทั้งนั้นเข้าในปาก.”
๑๗. พึงทำศึกษาว่า "ปากยังมีคำข้าวเราจักไม่พูด."
๑๘. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันเดาะ คำข้าว.”
๑๙. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันกัดคำข้าว."
๒๐. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันทำให้ตุ่ย.”
๒๑. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันสลัดมือ."
๒๒. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันทำเมล็ดข้าวตก."
๒๓. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันแลบลิ้น.”
๒๔. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันทำเสียงจับๆ.”
๒๕. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันทำเสียงซูดๆ
๒๖. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันเลียมือ."
๒๗. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันขอดบาตร."
๒๘. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันเลียริมฝีปาก."
๒๙. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่รับโอน้ำด้วยมือเปื้อนอามิส."
๓๐. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่เทน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวในละแวกบ้าน."

หมวดที่ ๓ : ธัมมเทสนาปฏิสังยุต มี ๑๖ ข้อ
(ว่าด้วยการแสดงธรรม)

๑. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ มีร่มในมือ."
๒. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้มีไม้พลองในมือ."
๓. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้มีศัสตราในมือ."
๔. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บ ไข้มีอาวุธในมือ."
๕. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้สวมเขียงเท้า."
๖. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้สวมรองเท้า."
๗. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ไปในยาน."
๘. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้อยู่บนที่นอน."
๙. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้นั่งรัดเข่า."
๑๐. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้พันศีรษะ."
๑๑. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้คลุมศีรษะ."
๑๒. พึงทำศึกษาว่า "เรานั่งอยู่ที่แผ่นดินจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้นั่งบนอาสนะ."
๑๓. พึงทำศึกษาว่า "เรานั่งบนอาสนะต่ำจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้นั่งบนอาสนะสูง."
๑๔. พึงทำศึกษาว่า "เรายืนอยู่ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้นั่งอยู่."
๑๕. พึงทำศึกษาว่า "เราเดินไปข้างหลังจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้เดินไปข้างหน้า."
๑๖. พึงทำศึกษาว่า "เราเดินไปนอกทางจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้ไปอยู่ในทาง."

หมวดที่ ๔ : ปกิณณกะ มี ๓ ข้อ
(เป็นหมวดเบ็ดเตล็ด)

๑. พึงทำศึกษาว่า "เราไม่อาพาธ จักไม่ยืนถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ."
๒. พึงทำศึกษาว่า "เราไม่อาพาธ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนเขฬะ บนของสดเขียว."
๓. พึงทำศึกษาว่า "เราไม่อาพาธ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนเขฬะในน้ำ.”
     *สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นวโกวาท (หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี) ๘๐/๒๕๕๐ (๕๐/๒๔๙๓)

วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557

กล้องถ่ายรูปกล้องแรกของ "ในหลวง"

กล้องถ่ายรูปกล้องแรกของ "ในหลวง"

กล้องถ่ายรูปส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล้องแรกคือ กล้อง"คอนแท็กซ์ทู"ผลิตจากเยอรมนี เป็นกล้องที่ในหลวงของเรา แรกครั้งยังทรงเป็นพระอนุชา ทรงวิ่งตามพระเชษฐา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล กล้องนี้เป็นกล้องเดียวกับที่ในหลวงทรงฉายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แรกครั้งยังทรงมีฐานันดรศักดิ์เป็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ในวันพระราชพิธีอภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม กรุงเทพฯ เมื่อ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓
ต่อมาทรงเปลี่ยนไปใช้กล้องในตระกูล "แคนนอน EOS" เริ่มที่ EOS ๑๐๐ แล้วเปลี่ยนเป็น EOS ๑๐๐ F ที่มีน้ำหนักเพียง ๕๑๐ กรัม และต่อมาทรงเปลี่ยนกล้องอีกหลายครั้งในทุกครั้งที่มีรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดตามลักษณะที่เหมาะสม โดยยังคงทรงกล้องในตระกูล "แคนนอน EOS" เนื่องเพราะมีน้ำหนักเบา สะดวกต่อการพกพา ในหลวงทรงใช้เลนส์ตัวเดียวมาโดยตลอด ไม่เปลี่ยนเลย คือเลนส์ ๒๘-๑๐๕ mm
คราวเสด็จพระราชดำเนินกฐินพระราชทานทางชลมารค เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๓ ทรงประทับเรือพระที่นั่ง "นารายณ์ทรงสุบรรณ" ล่องเลียบลำน้ำเจ้าพระยา คราวนั้นในหลวงทรงพกพากล้องเล็กพิเศษ เลนส์ "คาร์ลไซด์" ทรงเหลือบพระพักตร์เพียงเล็กน้อย ไม่ต้องยกกล้องมาที่พระเนตรก็ทรงมีพระปรีชาสามารถกดชัตเตอร์ได้เลย
ที่มา : หนังสือใกล้เบื้องพระยุคลบาท โดย...ลัดดา ซุบซิบ