วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557

เรื่องกัลยาณมิตร

เรื่องกัลยาณมิตร

มหาราชะ ! ครั้งหนึ่ง ตถาคตพักอยู่ที่นิคมแห่งพวกศากยะ ชื่อว่านครกะ ในแคว้นสักกะ. มหาราชะ !
ครั้งนั้นแล ภิกษุอานนท์ได้เข้าไปหาตถาคตถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่ควร. มหาราชะ ! ภิกษุอานนท์ได้กล่าวคำนี้กะตถาคตว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ความมีมิตรดี ความมีสหายดี ความมีเพื่อนผู้แวดล้อมดี นี้เป็นกึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์พระเจ้าข้า !” ดังนี้.

มหาราชะ ! เมื่อภิกษุอานนท์ได้กล่าวอย่างนี้แล้ว
ตถาคตได้กล่าวกะเธออย่างนี้ว่า

“อานนท์ ! เธออย่ากล่าวอย่างนั้นเลย, อานนท์ !ข้อนี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทั้งสิ้นทีเดียว คือความมีมิตรดีความมีสหายดี ความมีเพื่อนผู้แวดล้อมดี.

อานนท์ ! พรหมจรรย์ทั้งสิ้นนั้น เป็นสิ่งที่ภิกษุผู้มีมิตรดีพึงหวังได้.

เมื่อเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนผู้แวดล้อมดีเธอนั้นจักทำอริยมรรคมีองค์แปดให้เจริญได้
จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดได้ดังนี้.

สคา. สํ. ๑๕/๑๒๗/๓๘๒.

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

การรู้อริยสัจสี่ ทำให้มีตาสมบูรณ์

อริยสัจสี่โดยสังเขป

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐ มีสี่อย่างเหล่านี้,สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ

ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์,
และความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์เป็นอย่างไรเล่า ?
คือ :-ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นห้าอย่าง.ห้าอย่างนั้นอะไรเล่า ?
คือ :-รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้

เกิดทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือ ตัณหาอันใดนี้ที่เป็นเครื่องนำให้มีการเกิดอีก อันประกอบด้วยความกำหนัด เพราะอำนาจแห่งความเพลินมักทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่
ตัณหาในกาม (กามตัณหา),
ตัณหาในความมีความเป็น (ภวตัณหา),
ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น (วิภวตัณหา).
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ คือ เหตุให้เกิดทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือความดับ ไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?

คือ ความดับสนิท เพราะความจางคลายดับไปโดย ไม่เหลือของตัณหานั้น ความสละลงเสีย ความสลัดทิ้งไปความปล่อยวาง ความไม่อาลัยถึงซึ่งตัณหานั้นเอง อันใด.
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐ คือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?

คือ หนทางอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปด นั่นเอง, ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ :-
ความเห็นชอบ, ความดำริชอบ,การพูดจาชอบ, การงานชอบ, การเลี้ยงชีพชอบ,ความเพียรชอบ, ความระลึกชอบ, ความตั้งใจมั่นชอบ.ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ คือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์. ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์,

นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์,นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้เถิด.
มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๓๔-๕/๑๖๗๘-๑๖๘๓.

การรู้อริยสัจสี่ ทำให้มีตาสมบูรณ์


ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล ๓ จำพวกนี้มีอยู่ หาได้อยู่ในโลก. สามจำพวกอย่างไรเล่า ? สามจำพวกคือ :-

คนตาบอด (อนฺโธ),
คนมีตาข้างเดียว (เอกจกฺขุ),
คนมีตาสองข้าง (ทฺวิจกฺขุ).
ภิกษุทั้งหลาย ! คนตาบอดเป็นอย่างไรเล่า ?
คือคนบางคนในโลกนี้ไม่มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่ง;และไม่มีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
- ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ
- ธรรมเลวและธรรมประณีต
- ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คนตาบอด (ทั้งสองข้าง).

ภิกษุทั้งหลาย ! คนมีตาข้างเดียวเป็นอย่างไรเล่า ?คือคนบางคนในโลกนี้มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่ง;แต่ไม่มีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล

- ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ
- ธรรมเลวและธรรมประณีต
- ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง.ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คนมีตาข้างเดียว.ภิกษุทั้งหลาย ! คนมีตาสองข้างเป็นอย่างไรเล่า ?คือคนบางคนในโลกนี้มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่ง;และมีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
- ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ
- ธรรมเลวและธรรมประณีต
- ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คนมีตาสองข้าง.

...ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุมีตาสมบูรณ์ (จกฺขุมา) เป็นอย่างไรเล่า ?

คือภิกษุในกรณีนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า“นี้ทุกข์, นี้เหตุให้เกิดแห่งทุกข์, นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์”ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล ภิกษุมีตาสมบูรณ์.
ติก. อํ. ๒๐/๑๖๒/๔๖๘.
ติก. อํ. ๒๐/๑๔๗/๔๕๙.

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

เรื่องที่เป็นไปได้ยาก

ทรงแสดงเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

เกี่ยวกับพระองค์เอง

ภิกษุทั้งหลาย ! สมมติว่ามหาปฐพีอันใหญ่หลวงนี้มีน้ำท่วมถึงเป็นอันเดียวกันทั้งหมด; บุรุษคนหนึ่งทิ้งแอก(ไม้ไผ่ ?) ซึ่งมีรูเจาะได้เพียงรูเดียว ลงไปในน้ำนั้น;ลมตะวันออกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันตก, ลมตะวันตกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันออก, ลมทิศเหนือพัดให้ลอยไปทางทิศใต้, ลมทิศใต้พัดให้ลอยไปทางทิศเหนือ อยู่ดังนี้.

ในน้ำนั้นมีเต่าตัวหนึ่งตาบอด ล่วงไปร้อยๆ ปี มันจะผุดขึ้นมาครั้งหนึ่งๆ. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : จะเป็นไปได้ไหมที่เต่าตาบอด ร้อยปีจึงจะผุดขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง จะพึงยื่นคอ เข้าไปในรู ซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น ?

“ข้อนี้ยากที่จะเป็นไปได้ พระเจ้าข้า ! ที่เต่าตาบอดนั้นร้อยปีผุดขึ้นเพียงครั้งเดียว จะพึงยื่นคอเข้าไปในรู ซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น”.

ภิกษุทั้งหลาย ! ยากที่จะเป็นไปได้ฉันเดียวกันที่ใครๆ จะพึงได้ความเป็นมนุษย์;ยากที่จะเป็นไปได้ฉันเดียวกันที่ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ จะเกิดขึ้นในโลก;

ยากที่จะเป็นไปได้ฉันเดียวกันที่ธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว จะรุ่งเรืองไปทั่วโลก.

ภิกษุทั้งหลาย ! แต่ว่าบัดนี้ความเป็นมนุษย์ก็ได้แล้ว;ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก็บังเกิดขึ้นในโลกแล้ว; และธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองไปทั่วโลกแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้พวกเธอพึงกระทำโยคกรรมเพื่อให้รู้ว่า
“นี้ ทุกข์,นี้ เหตุให้เกิดทุกข์,นี้ ความดับแห่งทุกข์,นี้ หนทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์” ดังนี้เถิด.
มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๖๘/๑๗๔๔.

พระพุทธเจ้า ทั้งในอดีต, อนาคตและในปัจจุบัน ล้วนแต่ตรัสรู้อริยสัจสี่ภิกษุทั้งหลาย ! พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดๆได้ตรัสรู้ตามเป็นจริงไปแล้ว ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอดีต,ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ได้ตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดๆจักได้ตรัสรู้ตามเป็นจริง ต่อในกาลยืดยาวนานฝ่ายอนาคต,ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ก็จักได้ตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ผู้ตรัสรู้ตามเป็นจริงอยู่ ในกาลเป็นปัจจุบันนี้ ก็ได้ตรัสรู้อยู่ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.ความจริงอันประเสริฐสี่อย่างนั้น เหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ :-

ความจริงอันประเสริฐคือ ความทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือของทุกข์,
และความจริงอันประเสริฐคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้พวกเธอพึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า

“ นี้ เป็นทุกข์,นี้ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์,นี้ เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์,นี้ เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์”ดังนี้เถิด.

มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๓/๑๗๐๔.

พระพุทธองค์ ทรงพระนามว่า“อรหันตสัมมาสัมพุทธะ”ก็เพราะได้ตรัสรู้อริยสัจสี่
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐสี่อย่างเหล่านี้ สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ?

สี่อย่างคือ :-
ความจริงอันประเสริฐคือ ความทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือของทุกข์,
และความจริงอันประเสริฐคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์. 
นี้แล ความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะได้ตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่างเหล่านี้ ตถาคต จึงมีนาม
อันบัณฑิตกล่าวว่า “อรหันตสัมมาสัมพุทธะ”.
ภิกษุทั้งหลาย !เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า

“นี้เป็นทุกข์,นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์,นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์,และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์”ดังนี้เถิด. มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๓/๑๗๐๓.

จงสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการให้รู้อริยสัจ

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอเอ็นดูใคร และใครถือว่าเธอเป็นผู้ที่เขาควรเชื่อฟัง เขาจะเป็นมิตรก็ตาม อำมาตย์ก็ตามญาติหรือสายโลหิตก็ตาม;
ชนเหล่านั้น อันเธอพึงชักชวนให้เข้าไปตั้งมั่นในความจริงอันประเสริฐสี่ประการด้วยปัญญาอันรู้เฉพาะตามที่เป็นจริง.ความจริงอันประเสริฐสี่ประการอะไรเล่า ?

สี่ประการคือ :-
ความจริงอันประเสริฐคือ ทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดแห่งทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,
และความจริงอันประเสริฐคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า  “ ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้”ดังนี้.
มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๔/๑๗๐๖.

วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557

ผ้าเปลือกปอ

ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์
หมวดที่ ๑
ว่าด้วย การทุศีล 

______________________________
ผ้าเปลือกปอ๑
       ภิกษุ ท. ! ผ้าทอด้วยเปลือกปอ ถึงจะยังใหม่อยู่ สีก็ไม่งาม นุ่งห่มเข้าก็เจ็บเนื้อ ราคาก็ถูก, แม้จะกลางใหม่กลางเก่าแล้ว สีก็ยังไม่งาม นุ่งห่มเข้าก็ยังเจ็บเนื้อ ราคาก็ถูกมาก, แม้จะเก่าคร่ำแล้ว สีก็ยังไม่งามนุ่งห่มเข้าก็ยังเจ็บเนื้อ ราคาก็ถูกมากอยู่นั่นเอง. ผ้าเปลือกปอ ที่เก่าคร่ำแล้ว มีแต่จะถูกใช้เช็ดหม้อข้าว หรือทิ้งอยู่ตามกองขยะมูลฝอย นี้ฉันใด ;
      ภิกษุ ท. ! ภิกษุ ที่ทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน :แม้เพิ่งบวชใหม่ เราก็กล่าวว่า มีผิวพรรณไม่งาม เหมือนผ้าเปลือกปอที่มีสีไม่งาม นั้นนั่นแหละ. เรากล่าวภิกษุนี้ ว่า มีผ้าเปลือกปอ เป็นคู่เปรียบ. อนึ่ง ชนเหล่าใด คบหา สมาคม เข้าใกล้ ทำตามเยี่ยงอย่างของภิกษุนั้น ข้อนั้น จะเป็นทางให้เกิดสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์ แก่ชนเหล่านั้นเอง ตลอดกาลนาน ; เราจึงกล่าวภิกษุนั้นว่า ใครใกล้ชิดเข้าก็เจ็บเนื้อ เหมือนผ้าเปลือกปอ นุ่งห่มเข้าก็เจ็บเนื้อ 
      ฉะนั้น. เรากล่าวภิกษุนี้ ว่ามีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ. อนึ่ง ภิกษุนั้น รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริกขาร ของชนเหล่าใด ทานนั้นย่อมไม่มีผลใหญ่ ไม่มีอานิสงส์ใหญ่แก่ชนเหล่านั้น. เรากล่าวภิกษุนั้นว่า มีค่าน้อย เหมือนผ้าเปลือกปอ มีราคาถูก ฉะนั้น. เรากล่าวภิกษุนั้นว่า มีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ.
      ภิกษุ ท. ! แม้ภิกษุ มัชฌิมภูมิ (ยังไม่เป็นเถระ) เมื่อเป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ก็เป็นอย่างเดียวกัน, เรากล่าวว่า มีผิวพรรณไม่งาม เหมือนผ้าเปลือกปอ ที่มีสีไม่งาม นั้นนั่นแหละ. เรากล่าวภิกษุนี้ว่า มีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ. อนึ่ง ชนเหล่าใด คบหา สมาคม เข้าใกล้ ทำตามเยี่ยงอย่างของภิกษุนั้น ข้อนั้น จะเป็นทางให้เกิดสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์แก่ชนเหล่านั้นเอง ตลอดกาลนาน ; เราจึงกล่าวภิกษุนั้นว่า ใครใกล้ชิดเข้าก็เจ็บเนื้อ เหมือนผ้าเปลือกปอ นุ่งห่มเข้าก็เจ็บเนื้อ ฉะนั้น. เรากล่าวภิกษุนี้ ว่ามีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ. อนึ่ง ภิกษุนั้น รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริกขาร ของชนเหล่าใด ทานนั้นย่อมไม่มีผลใหญ่ ไม่มีอานิสงส์ใหญ่แก่ชนเหล่านั้น. เรากล่าวภิกษุนั้นว่า มีค่าน้อย เหมือนผ้าเปลือกปอ มีราคาถูก ฉะนั้น. เรากล่าวภิกษุนั้นว่า มีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ.
      ภิกษุ ท. ! แม้ภิกษุ ผู้เป็นเถระ๒ เมื่อเป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ก็เป็นอย่างเดียวกัน, เรากล่าวว่า มีผิวพรรณไม่งาม เหมือนผ้าเปลือกปอ ที่มีสีไม่งาม นั้นนั่นแหละ. เรากล่าวภิกษุนี้ว่า มีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ. อนึ่ง ชนเหล่าใด คบหา สมาคม เข้าใกล้ ทำตามเยี่ยงอย่างของภิกษุนั้น ข้อนั้น จะเป็นทางให้เกิดสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์แก่ชนเหล่านั้นเอง ตลอดกาลนาน ; เราจึงกล่าวภิกษุนั้นว่า ใครใกล้ชิดเข้าก็เจ็บเนื้อ เหมือนผ้าเปลือกปอ นุ่งห่มเข้าก็เจ็บเนื้อ 
      ฉะนั้น. เรากล่าวภิกษุนี้ว่า มีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ. อนึ่ง ภิกษุนั้น รับจีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริกขาร ของชนเหล่าใด ทานนั้นย่อมไม่มีผลใหญ่ ไม่มีอานิสงส์ใหญ่แก่ชนเหล่านั้น. เรากล่าวภิกษุนั้นว่ามีค่าน้อย เหมือนผ้าเปลือกปอ มีราคาถูก 
      ฉะนั้น. เรากล่าวภิกษุนั้นว่ามีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ.อนึ่ง ภิกษุเถระชนิดนี้ กล่าวอะไรขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายก็จะว่าให้ว่า “ประโยชน์อะไรด้วยคำพูดของท่าน ซึ่งเป็นคนพาลคนเขลา,คนอย่างท่านหรือจะรู้จักสิ่งที่ควรพูด” ดังนี้.
      ภิกษุเถระนั้น ถูกเขาว่าให้ก็โกรธ แค้นใจ กล่าววาจาหยาบออกมาโดยอาการที่ทำให้ตนต้องถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมในภายหลัง จึงเป็นเหมือนผ้าเปลือกปอเก่าคร่ำ ที่เขาทิ้งเสียตามกองขยะมูลฝอย ฉะนั้น แล.

"๑. บาลี พระพุทธภาษิต ติก. อํ. ๒๐/๓๑๗/๕๓๙, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย."
"๒. หมายถึง พระผู้บวชนาน นับตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไป."