วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

อิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปบาท

อิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปบาท

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๘๕/๑๕๙.
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมกระทำไว้ในใจ โดยแยบคายเป็นอย่างดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเทียว ดังนี้ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น.

เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ
เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะมีอุปาทานปัจจัย จึงมีภพ เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะมีชาติ เป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสอุปายาส ทั้งหลายจึงเกิดขึ้นครบถ้วน
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.
เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร
เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป
เพราะมคี วามดบั แหง่ นามรปู จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา
เพราะมคี วามดบั แหง่ ตณั หา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ
เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสะ
ทั้งหลายจึงดับสิ้น
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ญาณ ๑๖ แห่งวิปัสสนา


ญาณ ๑๖ - สภาวะธรรมแห่งวิปัสสนา
อรถกถาจารย์ อธิบายไว้ เป็น ๔ เหล่า.

วิปัสสนาญาณ ๑๖
การที่โยคีท้งหลายสติ จนรู้เห็นว่าร่างกายขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือเห็นแจ้งซึ่ง พระไตรลักษณ์ของรูปและนาม โดยอาศัยการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นเครื่องมือด้วยอินทรีย์ ๕ ที่สมบูรณ์ สภาวธรรมและปัญญาของจิตจะปรากฏขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นผลของวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ โสฬสญาณ(วิปัสสนาญาณ ๑๖) หรือภาวนามยปัญญา
เนื้อหาสาระของวิปัสสนาญาณ ๑๖ ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ที่ว่าด้วยญาณ ๗๓ ซึ่งท่านพระสารีบุตรได้รวบรวมสาระสำคัญของ โสฬสญาณในหมวดญาณ(ปัญญา) ๗๓ ประเภท เพียงแต่ไม่ได้เรียงหรือระบุชื่อญาณเหมือนกับ ที่ปรากฏในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๙ และในคัมภีร์วิสุทธิมรรค
วิปัสสนาจารย์จะไม่บรรยายหรืออธิบายเรื่องวิปัสสนาญาณ ๑๖ แก่ผู้ปฏิบัติล่วงหน้า เพียงให้ฝึก ปฏิบัติอย่างเดียวไปก่อน การรู้ล่วงหน้าจะทำให้เกิดผลเสีย เกิดความคิดปรุงแต่ง หรือเปรียบเทียบ กับในทฤษฎี ซึ่งทำให้ไม่ตั้งอยู่กับการกำหนดเพื่อเจริญสติปัฏฐาน หากปฏิบัติได้ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง โยคีจะเริ่มเข้าใจวิปัสสนาญาณ ๑๖ เอง เมื่อถึงเวลาที่ได้ทำการอธิษฐานทวนวิปัสสนาญาณที่ ๔ ถึง ๑๒ หลังจากปฏิบัติจนครบ วิปัสสนาญาณ ๑๖
ความหมายและที่มาของวิปัสสนาญาณ ๑๖ ปรากฏในพระไตรปิฎก อรรถกถา และคัมภีร์ วิสุทธิมรรค อย่างครบถ้วน เพียงแต่บางญาณถูกจัดรวมเข้าเป็นหมวดหมู่เดียวกัน โดยที่บางญาณใช้ชื่อแตกต่างกันบ้าง ดังต่อไปนี้

ญาณที่ ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาที่กำหนดจนเห็นรูปและนามว่าเป็นคนละสิ่ง คนละส่วน รูปนามแยกออกจากกันและไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ญาณนี้มาจากพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค โดยมีเนื้อหาสาระตรงกับชื่อ ธัมมัฏฐิติญาณ (ปัญญาในการกำหนดปัจจัยหรือ ญาณในการกำหนดที่ตั้งแห่งธรรม) ที่เป็นญาณที่ ๔ ในญาณ ๗๓ แต่เดิมมิได้เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ แต่ในพระไตรปิฎกอรรถกถาได้แยกขยาย ธัมมัฏฐิติญาณ ออกเป็น ๒ ญาณคือ นามรูปปริจเฉท และปัจจัยปริคคหญาณ โดยในอรรถกถาเรียกญาณที่ ๑ ว่า นามรูปววัตถานญาณ ในญาณที่ ๑๕ คือ วัตถุนานัตตญาณ ส่วนในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเรียกญาณที่ ๑ ว่า นามรูปววัฏฐานหรือสังขารปริจเฉท และให้ความหมายเหมือนกัน กล่าวคืออัตตาตัวตนที่แท้จริงไม่มีเลย เมื่อว่า โดยปรมัตถธรรม(ความจริงแท้) มีแต่เพียงรูปนามเท่านั้น สำหรับผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อได้ถึง ญาณนี้ก็จะเข้าใจแจ่มแจ้งด้วยตนเองว่า อัตตาตัวตนเป็นเพียงสภาวธรรม ไม่ยึดมั่นว่ามีอัตตาตัวตน
ในขณะนั่งสมาธิ การกำหนดพองหนอ ยุบหนอ นิ่งหนอ หรือเบ่งหนอ ได้ตามอารมณ์ที่เกิดขึ้น เท่ากับกำหนดรู้รูปรู้นามได้ จัดว่าได้ญาณที่ ๑ แล้ว
ในการเดินจงกรม ขณะกำหนดยกหนอหรือย่างหนอที่เท้า ความรู้สึกในอาการเคลื่อนไหว ของเท้าเป็นรูป(อารมณ์) จิตที่ระลึกรู้พร้อมกำหนดอาการเป็นนาม ต่อมาเมื่อกำหนดยินหนอ คลื่นเสียงที่มากระทบเป็นรูป จิตที่ระลึกรู้คลื่นเสียงโดยกำหนดว่ายินหนอ(สักแต่ว่าเสียง)เป็นนาม และในขณะนั่งสมาธิ กำหนดอาการคันได้ว่าคันหนอนั้น อาการคันจัดเป็นรูป(อารมณ์) ส่วนจิตที่ ระลึกรู้พร้อมกำหนดอาการเป็นนาม ดังนั้นการกำหนดได้ถูกต้องในขณะเดินและนั่งสมาธิ นับว่าได้ญาณที่ ๑ แล้ว


ญาณที่ ๒. ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นถึงปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดรูปเกิดนาม คือรูปเกิดจาก กรรม จิต อุตุ อาหาร ส่วนนามเกิดจากอารมณ์วัตถุ ญาณนี้มาจากพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ชื่อว่า ธัมมัฏฐิติญาณ (ปัญญาในการกำหนดปัจจัยหรือ ญาณในการกำหนดที่ตั้งแห่งธรรม) ที่เป็นญาณที่ ๔ ในญาณ ๗๓ แต่เดิมมิได้เรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ ต่อมาคัมภีร์อรรถกถาได้ขยายความและแยกธัมมัฏฐิติญาณ ออกเป็นญาณที่ ๑ และ ๒ ของวิปัสสนาญาณ ๑๖ โดยกำหนดชื่อ ปัจจยปริคคหญาณ ณ ที่นั้น
ในขณะนั่งสมาธิ โยคีกำหนดไปที่อาการเคลื่อนไหวของท้องว่า พองหนอ บางครั้งการกำหนดพองหนอก่อนอาการพอง หรือไปรออาการพองล่วงหน้า นี่เรียกว่า นามเป็นเหตุ รูปเป็นผล แต่บางครั้งการกำหนดพองหนอได้ช้ากว่าอาการพอง นี่คือรูปเป็นเหตุ นามเป็นผล เมื่อปฏิบัติไปได้ระยะหนึ่ง ผู้ปฏิบัติจะสามารถแยกรูปแยกนามได้อย่างชัดเจน และอาจเข้าถึงสภาวธรรม ของรูปนามในขณะเดินจงกรมเช่น เมื่อคิดว่าอยากให้เท้าเคลื่อนย่างไปเร็ว เท้าจะเคลื่อนไปเร็วเอง หรือคิดว่าอยากให้เท้าเคลื่อนย่างไปช้า เท้าจะเคลื่อนไปช้าเอง ตามที่จิตสั่ง(นามเป็นปัจจัยให้รูป)ได้อย่างชัดเจน พร้อมกับเกิดความเข้าใจว่ารูปและนามเป็นคนละอันกัน เนื่องจากตั้งแต่เกิดจนถึง ปัจจุบัน เหตุปัจจัยของรูปนามได้ปรากฏสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสายทุกขณะจิต ในวิปัสสนาญาณที่ ๑ และ ๒ จัดเป็นวิปัสสนาอย่างอ่อน แต่ยังไม่นับว่าเป็นขั้นของภาวนามยปัญญา

ญาณที่ ๓. สัมมสนญาณ ปัญญาของจิตกำหนดจนเริ่มรู้เห็นไตรลักษณ์ คือความเกิดดับ ของรูปนาม แต่ที่รู้ว่ารูปนามดับไปเพราะเห็นรูปนามใหม่เกิดสืบต่อแทนขึ้นมาแล้ว เห็นอย่างนี้เรียกว่า สันตติยังไม่ขาดและยังอาศัยจินตามยปัญญาอยู่ อีกนัยหนึ่งอธิบายว่า สัมมสนญาณ เป็นญาณที่ยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์ โดยมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ติลักขณปฏิเวธสัมมสนญาณ ญาณนี้ปรากฏในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค(ญาณที่ ๕ ของญาณ ๗๓) ส่วนในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแสดงไว้ว่า “กลาปสัมมสนญาณ เป็นญาณตั้งต้นของวิปัสสนาญาณ”
โยคีเริ่มกำหนดอารมณ์ได้มากขึ้น เริ่มจะเท่าทันอารมณ์ต่างๆ แต่ความเท่าทันนั้นยังไม่ปรากฏ ชัดเจน มีกำลังอ่อน และมีความล่าช้าอยู่ เพราะกำหนดยังไม่ได้ปัจจุบัน โดยอารมณ์จะตั้งอยู่สักระยะ จึงจะกำหนดตัดอารมณ์ได้เช่น ขณะกำหนดความคิด จิตยังไหลปรุงแต่งไปกับความคิดสักครู่ ก่อนที่จะ กำหนดคิดหนอได้ทัน ญาณที่ ๓ นี้จัดเป็นเพียงเขตสมถ ยังไม่ได้ยกขึ้นสู่วิปัสสนา


ญาณที่ ๔. อุทยัพพยญาณ ปัญญาของจิตที่กำหนดจนรู้เห็นไตรลักษณ์ชัดเจน อีกทั้งเห็น รูปนามดับไปในทันทีที่ดับและเห็นรูปนามเกิดขึ้นในขณะที่เกิด(เห็นทันทั้งในขณะที่เกิดขึ้นและขณะ ที่ดับไป) อุทยัพพยญาณมี ๒ ระดับคือตรุณอุทยัพพยญาณเป็นญาณที่ยังอ่อนอยู่ และ พลวอุทยัพพยญาณเป็นญาณที่แก่กล้าแล้ว ชื่อญาณนี้ปรากฏทั้งในพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค(ญาณที่ ๖ ของญาณ ๗๓) และในคัมภีร์อรรถกถาด้วย
สภาวะธรรมของญาณระดับอ่อน(ตรุณะ) และญาณระดับแก่(พลวะ) ในญาณที่ ๔ มีดังนี้
ในระดับ(ตรุณะ) โยคีกำหนดรู้สภาวะต่างๆ ของรูปนามแล้วเห็นชัดว่าสภาวะดับหายไป เร็วขึ้นกว่าเดิม แม้แต่เวทนาที่เกิดขึ้นเมื่อกำหนดก็หายไปเร็วขึ้น ผู้ปฏิบัติมักจะเห็นสภาวะที่แปลกๆ มีภาพปรากฏให้เห็นมีแสงสว่างเข้ามาปรากฏอยู่บ่อยๆ (โอภาส) เนื่องจากโยคีไม่เคยเห็น แสงสว่างเช่นนี้มาก่อนก็อาจจะสนใจดูหรืออาจเข้าใจผิดว่าได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ก็เป็นได้ สภาวะที่ปรากฎในญาณนี้ได้แก่
วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ดังนี้
๑. โอภาส (เกิด แสงสว่าง สีต่างๆ)
๒. ญาณ (ปัญญาหรือได้วิปัสสนาญาณ)
๓. ปีติ (ความอิ่มใจในขณะเจริญวิปัสสนา) มี ๕ อย่าง
๑) ขุททกาปีติ - ปีติเล็กน้อย(มีอาการขนลุก น้ำตาไหล รู้สึกเหมือนตัวยาว แขนยาว)
๒) ขณิกาปีติ - ปีติชั่วขณะ(มีแสง สี ดุจฟ้าแลบ เหมือนมดแมลงมาไต่ยุบยิบ ร้อนตามตัว มึนๆ หัวใจสั่นเต้น รู้สึกยุบยิบ)
๓) โอกกันติกาปีติ - ปีติเป็นพักๆ (มีอาการโยก โคลงเคลง รู้สึกคล้ายระลอกคลื่น ตัวโยก ตัวเอนคล้ายจะล้ม มีอาการสะบัดมือสะบัดแขน บางทีรู้สึกคลื่นไส้จะอาเจียน ร่างกายสั่นกระเพื่อม รู้สึกวูบวาบตามร่างกาย โอนเอนคล้ายต้นไม้ลู่ลม ผงกไปหน้าหลัง)
๔) อุพเพงคาปีติ - ปีติอย่างโลดโผน(มีความรู้สึกตัวลอย เบา คล้ายตัวพองโตใหญ่ โลดลอยอย่างแรง ตัวเหมือนสูงใหญ่ขึ้น ขณะนั่งบางทีลุกกระโดดขึ้นยืนทันที ตัวขยับสั่นไปมารุนแรง)
๕) ผรณาปีติ - ปีติซาบซ่าน(มีอาการซาบซ่าน เย็นไปทั่วตัว ซู่ซ่าทั้งตัว)
๑. ปัสสัทธิ (ความสงบกายและใจ)
๒. สุข (ความสุขอันละเอียดสุขุม)
๓. อธิโมกข์ (ความน้อมใจเชื่อและศรัทธามีกำลังแก่กล้า)
๔. ปัคคหะ (การประคองไว้และความเพียรวิริยะ)
๕. อุปัฏฐานะ (การเข้าไปตั้งไว้และสติที่ยอดยิ่งว่องไว)
๖. อุเบกขา (การวางเฉย)
๗. นิกันติ (ความใคร่และความพอใจ ยินดี ติดใจในวิปัสสนูปกิเลส ๙ อย่างข้างต้น)
หากผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดเพราะขาดวิปัสสนาจารย์แนะนำและคิดว่าตนเองได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน จะทำให้พลาดโอกาสที่จะได้เข้าถึงวิปัสสนากัมมัฏฐานขั้นสูงต่อไป การปฏิบัติในขั้นนี้เป็นเครื่องทดสอบว่าผู้ปฏิบัติเลือกเส้นทางเดินของวิปัสสนาได้ถูกต้องหรือไม่ ในระดับตรุณะโยคียังไม่สามารถกำหนดให้เห็นไตรลักษณ์ได้แจ่มแจ้ง เพราะจิตมักจะถูกวิปัสสนูปกิเลสเข้าครอบงำและอาจเกิดภัยแห่งวิปัสสนาในนิมิต ๕ ประการ ที่ทำให้วิปัสสนาไม่ก้าวหน้าหยุดชงักลงได้ดังนี้
๑. นิมิตภาพล้อ ที่เรียกว่า กายทิพย์ ปรากฏเหมือนตัวของเรา มาล้อเลียนเราในกิริยาต่างๆ เมื่อผู้ปฏิบัติจะทำอะไร มันก็ทำเหมือนเช่น เรายืนมันก็ยืน เราก้มมันก็ก้ม ดังภาพล้อเลียนเรา บางทีจะใช้ให้ไปทำอะไรที่ไหนก็ได้ตามความนึกคิด
๒. นิมิตภาพหลอน ปรากฏด้วยความประณีตของจิตที่สวยงามที่ชวนให้หลงติดดูด้วยความชอบใจเช่น โบสถ์สวยงาม พระพุทธรูปทองคำ สวนดอกไม้งดงาม หรือวิมานของเทวดา
๓. นิมิตภาพหลอก ทำให้ผู้ปฏิบัติตกใจกลัวสะดุ้งเช่น เห็นนิมิตสัตว์ ผี หรือซากศพ
๔. นิมิตภาพลวง หรือปฏิภาคนิมิต คือนึกถึงพระพุทธเจ้าก็จะปรากฏพระพุทธเจ้า, นึกให้ใหญ่หรือเล็กก็จะใหญ่หรือเล็กตามใจนึก, หรือนึกถึงนรกหรือสวรรค์ก็จะปรากฎให้เห็น
๕. นิมิตภาพล้าง เป็นนิมิตที่มาทำลายล้างผลาญการปฏิบัติเช่น เปรตมาขอส่วนบุญ หรือ เทวดามิจฉาทิฏฐิมาหลอกหลอนด้วยหน้าตาน่าเกลียดน่าสพึงกลัว นิมิตเหล่านี้ทำให้หายไปได้ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือการแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลและการเจริญวิปัสสนามีสติปัญญากำหนดรูปนาม ได้ทันปัจจุบันอารมณ์ โดยปล่อยวางไม่ยึดติดในนิมิต ซึ่งทำให้ภาพนิมิตทุกอย่างดับหายไปได้
เมื่อโยคีได้กัลยาณมิตรก็จะสามารถฟันฝ่าเอาชนะวิปัสสนูปกิเลสและข้ามพ้นนิมิตต่างๆ ทำให้การปฏิบัติดำเนินต่อไป ครั้นปฏิบัติมาถึงญาณระดับอุทยัพพยญาณอย่างแก่(พลวะ) โยคีจึงจะสามารถกำหนดรูปนามและเห็นไตรลักษณ์ได้ชัดขึ้นตามความเป็นจริง
ครั้นถึงพลวอุทยัพพยญาณ สติปัฏฐานเริ่มมีพละกำลังและเป็นปัจจัยทำให้ โพชฌงค์ ๗ (ปีติ ปัสสัทธิ วีริยะ สติ สมาธิ ปัญญา และอุเบกขา)เริ่มเกิดขึ้น ซึ่งการเกิดขึ้นขององค์ธรรมในโพชฌงค์ทั้ง ๗ ยังไม่เท่าหรือเสมอกันในญาณนี้ หากปฏิบัติได้ผลต่อไปโพชฌงค์ ๗ จะค่อยๆ บริบูรณ์เสมอกันเอง
การกำหนดในญาณนี้จะเริ่มคล่องขึ้นและทันอารมณ์ขึ้นกว่าก่อน โดยจะเห็นอารมณ์ที่มีการเกิด และดับไป แต่ยังช้าอยู่ ซึ่งอารมณ์ที่กำหนดได้จะไม่ตั้งอยู่นานเหมือนแต่ก่อน จิตที่รับอารมณ์เริ่ม ทำงานอย่างเป็นธรรมชาติ อีกทั้งอารมณ์ปรมัตถ์และความเป็นอนัตตาเริ่มปรากฏหรือแสดงให้เห็น

ญาณที่ ๕. ภังคญาณ ปัญญาของจิตที่กำหนดจนรู้เห็นความดับไปแต่อย่างเดียว ญาณนี้อยู่ในพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค(ญาณที่ ๗ ของญาณ ๗๓) โดยมิได้เรียกชื่อว่า ภังคญาณ เพียงแต่ให้ความหมายว่าเป็นปัญญาเห็นความแตกไปเท่านั้น แต่ในคัมภีร์อรรถกถาได้แสดงและให้ชื่อญาณนี้ว่า“ภังคานุปัสสนาญาณ” ซึ่งสาระสำคัญของญาณนี้ ก็คืออารมณ์ที่เป็นบัญญัติถูกเพิกถอนจนหายไปหมด ซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติเห็นแต่ อารมณ์ที่เป็น ปรมัตถ์ล้วนๆ ปรากฏขึ้นมาแทน อีกทั้งยังตัดนิวรณ์ ๕ (กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา)ได้อย่างสมบูรณ์
จิตเริ่มแสดงอารมณ์ปรมัตถ์แท้ๆ และเห็นความเป็นอนัตตาของจิตชัดเจนขึ้น สติปัฏฐานเริ่ม ทำงานได้คล่องแคล่วและกำหนดทันรูปนามได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยมีเพียงอารมณ์ที่ดับและหายไป อย่างไรก็ดีภังคญาณเป็นอารมณ์ดับที่มีการเกิดอยู่ ยังไม่ใช่การดับของผลสมาบัติหรือนิโรธสมาบัติ


ญาณที่ ๖. ภยญาณ บ้างก็เรียกว่าภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญาของจิตที่กำหนดจนรู้เห็นว่า รูปนามนี้มีแต่แตกดับไปอย่างเดียว ซึ่งตกอยู่ในสภาวะที่น่าหวาดเสียวและน่าสะพรึงกลัว เหมือนคนกลัวสัตว์ร้าย ในพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค(ญาณที่ ๘ ของญาณ ๗๓) คือ อาทีนวญาณ ซึ่งได้รวมวิปัสสนาญาณที่ ๖, ๗ และ ๘ เข้าด้วยกัน ส่วนในคัมภีร์อรรถกถา ได้แยกแสดงภยญาณ ไว้เป็นญาณแรกใน ๓ ญาณของอาทีนวญาณ
ผู้ที่ถึงญาณนี้ได้ ต้องปฏิบัติจนทำให้อินทรีย์เกิดความสมดุล ในการกำหนดอารมณ์ภายใน และภายนอก โดยที่อินทรีย์ของสมาธิไม่มากเกินไป แม้ว่าอารมณ์ที่กำหนดจะเริ่มเปลี่ยนแปลงแปลก ไปจากเดิม จนบางครั้งอาจสงสัยผุดคิดขึ้นว่าทำไมรูปนามหรืออารมณ์ที่กำหนดอยู่เป็นเช่นนี้ เพราะผิดจากเดิมที่เคยเริ่มฝึกและผิดจากธรรมชาติที่เคยเป็น ในบางครั้งอาจจะมีอารมณ์ของ ภยญาณผุดขึ้นมาในขณะปฏิบัติได้ ช่วงนี้โยคียังกำหนดได้คล่องเพลิดเพลิน โล่ง โปร่ง และเบาสบาย จนรู้สึกว่านั่งไป ๓๐ นาทีนั้นเวลาผ่านไปเหมือนไม่นาน เพราะโยคีกำหนดได้อารมณ์ปัจจุบันจริงๆ จนความคิดและการปรุงแต่งแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย

ญาณที่ ๗. อาทีนวญาณ ปัญญาของจิตที่กำหนดจนรู้เห็นว่า รูปนามนี้ไม่มีสาระแก่นสาร อะไร ไม่มีสิ่งที่น่าชื่นชม มีแต่ความโดดเดี่ยวและมีแต่ทุกข์โทษภัย เหมือนผู้ที่เห็นไฟกำลังไหม้ เรือนตนอยู่ จึงคิดหนีจากเรือนนั้น ญาณนี้ปรากฏทั้งในพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๘ ของญาณ ๗๓) และคัมภีร์อรรถกถา
โยคีกำหนดได้เท่าทันยิ่งขึ้นกว่าก่อน แม้รูปนามจะปรากฏขึ้นเร็วและพิสดารเป็นอย่างมาก แต่โยคียังกำหนดได้ดี ไม่ว่ารูปนามจะเป็นอย่างไร โดยอารมณ์ภายในจิตขณะนั่งสมาธิที่กำหนดอยู่ ชัดเจนมากจนคล้ายกับเห็นได้ด้วยตา ในญาณนี้จิตมีอารมณ์ที่เบาสบายและคล่องแคล่วเป็นที่สุด อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อีกทั้งยังกำหนดได้เท่าทันอย่างเป็นธรรมชาติตามความเป็นจริง โดยรู้สึกเหมือนเวลาผ่านไปรวดเร็วมากจนคล้ายชั่วครู่เดียวแม้ว่าจะนั่งไป ๓๐ หรือ ๔๕ นาทีก็ตาม บางครั้งอาจเกิดอารมณ์ของอาทีนวญาณผุดขึ้นได้ หากกำหนดได้ถูกต้องอย่างต่อเนื่องและเท่าทัน ทุกอารมณ์ โดยไม่ไปบังคับหรือฝืนธรรมชาติของรูปนามแล้ว โยคีจะก้าวหน้าสู่ญาณที่สูงขึ้นไปในไม่ช้า

ญาณที่ ๘. นิพพิทาญาณ ปัญญาของจิตที่กำหนดจนรู้เห็นว่า เกิดความเบื่อหน่ายในรูปนาม และในขันธ์ ๕(รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) ความเบื่อหน่ายจะเป็นอารมณ์ที่ผุดขึ้นเอง ในระหว่างการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่มิใช่เกิดขึ้นจากการนึกคิดเอาเองด้วยกิเลส ญาณนี้ปรากฏ ทั้งในพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค(ญาณที่ ๘ ของญาณ ๗๓) และคัมภีร์อรรถกถา
จิตเริ่มเบื่อหน่ายในรูปนามและไม่อยากไปจับต้องสัมผัสรูปนามใดๆ อุปมาคล้ายกับ คนที่กลัวเสือ แล้วหลบอยู่ข้างในและไม่กล้าโผล่ออกมานอกถ้ำ ซึ่งทำให้โยคีรู้สึกว่าขณะนี้ไม่สามารถ ปฏิบัติได้ง่ายเหมือนเก่าเลย จนคล้ายกับทำไม่ได้ อยากเลิกทำ รู้สึกท้อแท้ ไม่เบิกบานร่าเริง เบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติ บางคนถึงกับเลื่อนการปฏิบัติออกไป หรืออาจหยุดปฏิบัติและคิดว่า ค่อยมาทำต่อภายหลัง ซึ่งโดยรวมแล้วปฏิบัติผ่านได้ยาก แต่จิตก็ไม่มีทางหนีออกจากรูปนามได้ ดังนั้นจึงต้องอดทนปฏิบัติต่อไปตามคำแนะนำและการให้กำลังใจของวิปัสสนาจารย์เท่านั้น ที่จะช่วยให้มีความเข้าใจและทำให้ข้ามพ้นญาณนี้ไปได้
บางครั้งโยคีที่เกิดอาการเบื่อในการปฏิบัติ โดยที่ไม่เคยปฏิบัติผ่านสภาวะธรรมของ วิปัสสนาญาณที่ ๓ ถึง ๗ อาการนั้นจัดว่าเป็นความเบื่อจากความคิดหรือกิเลส ไม่ใช่จากนิพพิทาญาณ
นักปฎิบัติบางคนอาจจะพบกับ เวทนาที่รุนแรงและนิมิตภาพในอดึต อาจปรากฎขึ้นในญาณนี้ จากกรรมเก่าในอดีต เช่น เคยฆ่าสัตว์ ทรมานสัตว์ เล่นกับสัตว์รุนแรง ทั้งที่ไม่ตั้งใจและตั้งใจ สภาวะเวทนาจะคล้ายกับสัตว์ที่ถูกกระทำ

ญาณที่ ๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญาของจิตที่กำหนดจนรู้เห็นว่า ปรารถนาที่จะหนี ออกจาก รูปนามและใคร่จะพ้นจากขันธ์ ๕ ญาณนี้ปรากฏทั้งในพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๙ ของญาณ ๗๓) ซึ่งได้รวมวิปัสสนาญาณที่ ๙, ๑๐ และ ๑๑ ไว้ด้วยกันในสังขารุเปกขาญาณ แต่ในคัมภีร์อรรถกถา ได้ปรากฏชื่อและเรียกว่า มุญจิตุกัมยตาญาณ เป็นญาณที่อยากหลุดพ้นและหนีไปจากรูปนาม แต่ก็หนีไปไหนไม่ได้เพราะมีเพียงแต่ รูปนามเท่านั้น และยังต้องเจริญวิปัสสนาต่อไปอีก
หลังจากที่จิตเบื่อหน่ายในรูปนามแล้ว จิตไม่มีทางออกอื่นใดนอกเสียจากการยึดรูปนาม เป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์อันเดียวที่ใช้นำพาให้จิตพ้นจากรูปนามหรือความทุกข์ โดยมีเป้าหมายคือ พระนิพพาน ปัญญาของจิตที่เกิดขึ้นเองในญาณนี้ จำเป็นต้องยึดรูปนามแม้ว่าจะมีอยู่เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะอยู่เฉยต่อไปไม่ได้ จำต้องสัมผัสแบบแลบออกไปสู่รูปนามอย่างเสียไม่ได้ อุปมาคล้ายกับ คนที่เอามือไปแตะผิวกาต้มน้ำร้อนเพียงนิดเดียวเพื่อทดสอบว่าร้อนเท่าใด

ญาณที่ ๑๐. ปฏิสังขาญาณ ปัญญาของจิตที่กำหนดจนรู้เห็นเพื่อหาทางที่จะหนีออกจาก รูปนาม โดยหาอุบายที่จะเปลื้องตนให้พ้นจากขันธ์ ๕ ญาณนี้ปรากฏทั้งในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค(ญาณที่ ๙ ของญาณ ๗๓) และในคัมภีร์อรรถกถา ส่วนในคัมภีร์วิสุทธิมรรคใช้ชื่อว่า ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ
ครั้นจิตจำต้องใช้รูปนามเป็นฐานเพื่อมุ่งสู่ทางพ้นทุกข์ รูปนามเท่านั้นที่เป็นพาหนะอย่างเดียว เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ดังนั้นจิตจึงจำเป็นต้องยึดรูปนามเป็นฐานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสามารถ กำหนดเห็นพระไตรลักษณ์ของรูปนาม(เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป) ได้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งด้วย ความเร็วช้าๆ อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากรูปนามนี้เป็นพาหนะสำคัญอย่างเดียวที่ใช้นำไปสู่ อารมณ์พระนิพพาน


ญาณที่ ๑๑. สังขารุเบกขาญาณ ปัญญาของจิตที่กำหนดจนรู้เห็นว่า จะหนีไปไหนก็ไม่พ้น เพราะมีแต่การปรากฎของรูปนาม จิตจึงกำหนดรู้ด้วยความวางเฉยได้และไม่ยินดียินร้ายในรูปนามใดๆ ญาณนี้ปรากฏทั้งในพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
(ญาณที่ ๙ ของญาณ ๗๓) และในคัมภีร์อรรถกถาเช่นกัน ญาณนี้จัดว่าได้ถึงที่สุดแล้วและมีอีกชื่อว่าสิขาปัตตสังขารุเปกขา เพราะเป็นสุดยอดของโลกียญาณ
เมื่อจิตยึดรูปนามเป็นอารมณ์ โดยกำหนดอารมณ์ต่างๆ ได้หลากหลาย สม่ำเสมอ เพลิดเพลิน คล่องแคล่ว ง่ายดายอย่างยิ่ง และใจสงบดีเป็นที่สุด ในขณะเดียวกันยังสามารถกำหนดสภาวะต่างๆ ได้ดีมากโดยไม่ยินดียินร้ายต่อทุกขเวทนาหรือสุขเวทนา ได้ทั้งเร็วและช้า ได้ทั้งชัดและเบลอ ด้วยความสงบวางเฉยต่อทุกอารมณ์อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เผลอสติจากรูปนาม จิตมีพละกำลังต่อ ความเพียรกำหนดเต็มที่อย่างสม่ำเสมอซึ่งทำให้นิวรณ์ทั้งหลายสงบลง จนในที่สุดกำหนดรูปนาม ได้ดีเยี่ยม พร้อมกับนั่งสมาธิได้ยาวนานกว่าปกติ เช่น ๑, ๒ หรือ ๓ ชั่วโมง แม้ว่าจะมีเวทนารุนแรงที่สุด มารบกวน ความปวดก็ไม่กระทบหรือเข้าถึงจิตที่วางเฉยได้ ในช่วงนี้โยคีอาจจะนอนไม่ค่อยหลับ หรืออาจนอนเพียงไม่กี่ชั่วโมงเพราะจิตจะตื่นตัวโดยไม่รู้สึกอ่อนเพลียเลย ในญาณนี้สำนักวิปัสสนา บางแห่ง จะให้ผู้ปฏิบัติเจริญการกำหนดเดินนั่งไปตลอด ๒๔ ช.ม. โดยไม่ต้องนอนเป็นเวลาหลายวัน เพราะโยคีมักจะเพลิดเพลินและไม่มีอารมณ์อยากพักผ่อนหรือรู้สึกง่วงเลย นอกจากนั้นผู้ปฏิบัติ ที่มีโรคภัยไข้เจ็บบาง อย่าง เมื่อถึงญาณนี้โรคร้ายนั้นอาจจะบรรเทาเบาคลายลงมาก หรือโรคอาจหายไปเลยก็ได้
ในกรณีที่โยคีท่านใดติดอยู่ในสภาวธรรมของสังขารุเบกขาญาณเป็นเวลานาน โดยไม่ปรากฏสภาวะธรรมใหม่ๆ และคงมีแต่สภาวะเก่าๆ เดิมๆ เนื่องมาจากเหตุ ๖ ประการที่ขวางกั้นมรรค ผล และนิพพาน ดังนี้
๑. เคยตั้งเจตนาปรารถนาพุทธภูมิ ถ้าผู้ปฏิบัติต้องการและยังยึดมั่นในการปรารถนาพุทธภูมิอย่างแน่วแน่แล้ว จะต้องหยุดปฏิบัติเพียงแค่ วิปัสสนาญาณที่ ๑๑ นี้เท่านั้น แต่ถ้าต้องการเดินหน้าสู่พระนิพพาน ให้ผู้ปฏิบัติอธิษฐานถอนพุทธภูมิ ทั้งที่จำได้หรือจำไม่ได้ก็ตามต่อหน้าพระประธานเพื่อพัฒนาสู่ญาณที่สูงขึ้นต่อไป
๒. เคยผิดล่วงเกินบูรพการีเช่น มารดา บิดา พระอุปัชฌาย์ ครูบาอาจารย์ ให้ได้รับ ทุกข์โทมนัส และเจ็บช้ำน้ำใจมาก่อน ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ให้ทำพิธีขอขมาลาโทษ ต่อบุคคลผู้มีพระคุณเหล่านั้นเสียก่อน หากท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว ให้ทำการขอขมาต่อหน้ารูปภาพ หลุมศพ หรืออัฏฐิ ถ้าไม่สามารถทำได้ ให้อธิษฐานต่อหน้าพระประธานโดยมีวิปัสสนาจารย์ เป็นสักขีพยาน
๓. เคยตำหนิล่วงเกินพระอริยบุคคลทั้งต่อหน้าและลับหลัง โดยจะทราบหรือไม่ก็ตาม นับเป็น อริยุปวาท จำเป็นต้องขอขมาต่อหน้าพระประธาน
๔. เคยทำศีลวิบัติ สำหรับฆราวาสให้สมาทานและรักษาศีลใหม่ ถ้าเป็นพระภิกษุที่ต้อง อาบัติปาราชิกแล้ว ต้องลาสิกขามาเป็นฆราวาส แล้วปฏิบัติต่อไปก็จะผ่านญาณนี้ไปได้ แต่ถ้าต้อง อาบัติที่ต่ำกว่า ก็ต้องปฏิบัติตามพระวินัยเช่น อยู่ปริวาสหรือแสดงปลงอาบัตินั้นๆ เสีย
๕. เคยทำอนันตริยกรรม ๕ เช่น ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ประทุษร้ายต่อ พระพุทธเจ้าถึงกับทำให้เกิดห้อพระโลหิต หรือทำให้เกิดสังฆเภท(การทำลายสงฆ์ให้แตกแยก) หากท่านเคยทำอนันตริยกรรม ก็จะหยุดอยู่แค่ญาณนี้และไม่สามารถปฏิบัติไปถึงญาณที่สูงกว่านี้ได้
๖. เคยตั้งเจตนาปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อช่วยเหลือผู้คนและไม่ต้องการเข้าสู่ พระนิพพาน ในกรณีนี้ให้วิปัสสนาจารย์ถามเจตนาของผู้ปฏิบัติ หากต้องการถอนก็ให้อธิษฐานถอนได้
แม้ว่าบางท่านจำไม่ได้ว่าเคยทำเหตุ ๖ ประการที่ขวางกั้นพระนิพพานใดไว้ในอดีต แต่มีความแน่วแน่ต่อการปฏิบัติสู่ญาณที่สูงขึ้นเพื่อเข้าถึงพระนิพพาน ให้ผู้ปฏิบัติอธิษฐาน กล่าวคำขออโหสิ กรรมและคำถอนพุทธภูมิต่อหน้าพระประธานได้เช่นกันโดยไม่มีผลเสียใดๆ ดังนี้


คำขออโหสิกรรมและคำถอนพุทธภูมิ
“หากข้าพเจ้า(ชื่อ.................) ได้เคยล่วงเกิน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ บรรพบุรุษ บุพการี และผู้มีพระคุณทุกๆ ท่าน จากในอดีตถึงปัจจุบัน
ข้าพเจ้า(ชื่อ.........)ขออโหสิกรรมในปัจจุบันชาติ สำหรับการล่วงเกิน กระทำผิด ทางกาย วาจา ใจ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ถ้าข้าพเจ้าได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ขอให้เกิดวิปัสสนาปัญญา ประจักษ์แจ้งในอริยสัจ ๔ เข้าถึงความตรัสรู้ คือ มรรค ผล นิพพาน ในปัจจุบันชาติด้วยเถิด
หากข้าพเจ้า(ชื่อ...............) เคยอธิษฐานให้ไปเกิดในยุค พระศรีอริยเมตตรัย หรือเคยปรารถนาพุทธภูมิมา ไม่ว่ากี่ภพ กี่ชาติ กี่อสงขัยมหากัปป์ จากในอดีตถึงปัจจุบัน
ข้าพเจ้า(ชื่อ........) ขอถอนคำอธิษฐานและความปรารถนาทั้ง ๒ เพื่อความสำเร็จในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ให้ได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน กับพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ภายในปัจจุบันชาติด้วยเถิด”
หลังจากคำอธิษฐาน คำขออโหสิกรรมและคำถอนพุทธภูมิ ผู้ปฏิบัติที่มีอินทรีย์ ๕ สมดุลแล้วสภาวะธรรมจะเริ่มพัฒนา และเกิดสภาวะธรรมของรูปนามใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนเดิมทันที ทำให้ก้าวหน้าต่อไปสู่ญาณที่สูงขึ้น

ญาณที่ ๑๒. อนุโลมญาณ ปัญญาของจิตที่กำหนดจนรู้เห็น ในการคล้อยตามรูปนามจาก ลำดับญาณเริ่มต้น จนถึงญาณสูงสุด(น้อยไปหามาก) ซึ่งญาณนี้มีอีกชื่อว่าสัจจานุโลมิกญาณ ญาณนี้ได้ปรากฏในพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค(ญาณที่ ๔๑ ของญาณ ๗๓) ที่เรียกว่า ขันติญาณ ส่วนในคัมภีร์อรรถกถาใช้ชื่อเดียวกันว่า อนุโลมญาณ สัจจานุโลมิกญาณ หรืออนุโลมญาณ เหมือนกันกับขันติญาณ เนื่องจากญาณนี้อยู่ติดกับอริยมรรค จึงมีชื่ออีกอย่างว่า วุฏฐานคามินีวิปัสสนา ที่หมายถึงวิปัสสนาที่กำลังจะเข้าถึงอริยมรรคประกอบด้วยญาณทั้ง ๓ คือสังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ และโคตรภูญาณ
โยคีที่ติดค้างอยู่ในญาณที่ ๑๑ หลังจากอธิษฐานจิตถอนพุทธภูมิและขอขมาแล้ว โยคีจะเกิดสภาวธรรมใหม่ๆ ทำให้จิตเคลื่อนขึ้นสู่ญาณที่ ๑๒ ได้ เมื่อจิตได้ใช้พาหนะคือรูปนาม ที่พัฒนาจนปัญญามาถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่ด้วยกำลังที่ยังไม่เพียงพอที่จะสลัดทิ้งรูปนามในการเข้าสู่ อารมณ์พระนิพพาน จิตต้องอาศัยความบริบูรณ์ในการทบทวนของญาณ โดยถอยกลับไปเริ่มต้น ในญาณต่ำขึ้นไปสู่ญาณสูงตั้งแต่อุทยัพพยญาณ(๔) ถึง สังขารุเบกขาญาณ(๑๑) ที่โยคีเคยผ่านมาแล้วอีกรอบหนึ่ง โดยมีรูปนามหรือสังขารเป็นอารมณ์และจะไม่ถอยกลับ สู่ญาณเบื้องต่ำอีกแล้ว จากนั้นจิตจะรวบรวมพละกำลังเป็นครั้งสุดท้ายด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการที่ประชุมพร้อมกัน และมีอินทรีย์เต็มเปี่ยมจากธรรมสมังคีเสมอกันในขณะจิตเดียว เพื่อเป็นฐานผลักดันจิตให้เคลื่อนเข้าสู่อารมณ์พระนิพพาน


ญาณที่ ๑๓. โคตรภูญาณ ปัญญาของจิตที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพานที่ตัดขาดจากโคตรปุถุชนเปลี่ยนเป็นโคตรอริยชน ญาณนี้ปรากฏในพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค(ญาณที่ ๑๐ ของ ญาณ ๗๓) สภาวะจิตของโยคีจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ เพื่อข้ามพ้นโคตรปุถุชน บรรลุถึงอริยชน โดยไม่หวนกลับไปอีก ถ้าปฏิบัติต่อจนได้บรรลุถึงพระสกิทาคามี, พระอนาคามีและพระอรหันต์ เมื่อมาถึงญาณนี้ จะเรียกว่า โวทานโคตร ไม่เรียกว่า โคตรภู เพราะท่านได้เคยปฏิบัติข้าม โคตรปุถุชนเป็นอริยชนมาก่อนแล้วในรอบแรก
ญาณนี้คือการเคลื่อนของจิตที่อยู่ในช่วงระหว่างฝั่งของรูปนามกับพระนิพพาน แม้รูปนามจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ก็ยังไม่ได้ทำลายกิเลส เพราะอยู่ในขณะจิตที่กำลังจะทิ้งรูปนาม แต่จิตก็ยังไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่อารมณ์พระนิพพาน(ญาณที่ ๑๔ คือมรรคญาณ) ดังตัวอย่างเช่น คนที่ใช้ไม้ค้ำยันลงไปในน้ำเพื่อช่วยพาตัวกระโดดจากเรือข้ามน้ำไปสู่พื้นดิน โคตรภูญาณคือช่วงขณะ ที่กำลังลอยตัวอยู่กลางอากาศ และกำลังทิ้งไม้ไผ่ที่ใช้ค้ำยันกระโดด โดยที่ตัวเองยังไม่ได้ลงถึงพื้นดิน หากเปรียบเทียบกับการปฏิบัติ รูปนามคือไม้ค้ำยัน จิตคือคน ส่วนอารมณ์พระนิพพานคือฝั่งที่ลงไปถึง
ในโคตรภูญาณ อารมณ์ที่ปรากฏก่อนที่จะเคลื่อนเข้าสู่ความดับของรูปนาม หรือทางเข้าสู่พระนิพพาน ๓ ประเภท มีดังนี้
๑. รูปนามแสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยง โดยการเกิดดับของรูปนามจะมีมาก, เร็ว และสั้นจนถึงที่สุด สำหรับผู้ที่เคยสะสมบารมีทางศีลมาก่อน เรียกว่าเข้าทางอนิจจัง ด้วยการหลุดพ้นทาง อนิมิตตวิโมกข์
๒. รูปนามแสดงให้เห็นถึงความเป็นทุกข์ โดยทุกขเวทนา(คัน แน่น หรือปวด) จะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงที่สุด สำหรับผู้ที่เคยสะสมบารมีทางสมาธิมาก่อน เรียกว่าเข้าทางทุกขัง ด้วยการหลุดพ้นทาง อัปปณิหิตวิโมกข์
๓. รูปนามแสดงให้เห็นถึงความไม่มีตัวตน โดยรูปนามจะแผ่วเบาละเอียดจนถึงที่สุด สำหรับผู้ที่เคยสะสมบารมีทางปัญญามาก่อน เรียกว่าเข้าทางอนัตตา ด้วยการหลุดพ้นทาง สุญญตวิโมกข์

ญาณที่ ๑๔. มัคคญาณ ปัญญาของจิตที่กำหนดจนรู้เห็น พระนิพพาน และตัดกิเลสได้ ญาณนี้ปรากฏในพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค(ญาณที่ ๑๑ ของญาณ ๗๓) โดยที่โยคีได้เสวยและเข้าถึงอารมณ์พระนิพพานเป็นครั้งแรก รูปนามจะดับไปหมดในญาณนี้ หมดความสงสัยในพระรัตนตรัยโดยสิ้นเชิงและมีศีล ๕ มั่นคงเป็นนิจ กิเลสบางส่วนถูกประหารไป อย่างถาวรเป็นสมุจเฉทปหาน แต่ยังมีกิเลส ๓ (โมหะ โลภะ โทสะ) หลงเหลืออยู่ ยกเว้นพระอรหันต์ โดยสามารถปิดอบายภูมิได้เด็ดขาด และจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ ๔ (สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน) ซึ่งคล้ายกับการนำจิตสู่เบื้องลึกเพื่อปรับเปลี่ยนและพัฒนาจิตใต้สำนึก ตามแนวจิตวิทยาตะวันตก
ในช่วงของมัคคญาณ(มรรคญาณ) จิตที่ทิ้งรูปนามแล้วเคลื่อนเข้าสู่อารมณ์พระนิพพาน จะเกิดขึ้นในเวลาเดี๋ยวเดียวบ้างหรือนานบ้าง ขึ้นอยู่กับกำลังและฐานของสมาธิที่เคยฝึกปฏิบัติ มาในอดีต
มัคคญาณ(ปัญญาของจิต) ยังประหารกิเลส(สิ่งที่ทำจิตเศร้าหมอง ที่เป็นอกุศลจิต) ได้ถาวรเป็นสมุจเฉทปหาน จากกิเลส ๓ประเภท ดังนี้
๑. วีติกกมกิเลส เป็นกิเลสอย่างหยาบที่ละเมิดออกมาทางกายและทางวาจา ทำให้ผิดศีลให้ ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต ซึ่งอาจประหารได้ด้วยการรักษาศีล เป็นการประหารได้ชั่วครั้งชั่วขณะ เรียกว่า ตทังคปหาน
๒. ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสอย่างกลางที่ไม่แสดงออกมาให้ปรากฏทางกายและทางวาจา เช่น นิวรณ์ ๕ เป็นต้น ซึ่งสามารถประหารได้ด้วยสมาธิ หรือด้วยฌาน เป็นการประหารด้วยการข่มไว้อันเรียกว่า วิกขัมภนปหาน
๓. อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียดซึ่งอยู่ในจิตตสันดาน ขณะใดไม่มีอารมณ์กระทบ ขณะนั้นกิเลสชนิดนี้ก็จะสงบนิ่งอยู่ในใจ ไม่แสดงอาการออกมาให้ตนเองหรือคนอื่นรู้ได้ แต่เมื่อมีอารมณ์กระทบจึงจะแสดงอาการออกมา กิเลสชนิดนี้สามารถประหารได้ด้วยปัญญา หรือมัคคญาณ เป็นการประหารอย่างเด็ดขาดเรียกว่า สมุจเฉทปหาน

ญาณที่ ๑๕. ผลญาณ ปัญญาของจิตที่กำหนดจนรู้เห็น พระนิพพานโดยเสวยผลแห่งสันติสุข ญาณนี้ปรากฏในพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค(ญาณที่ ๑๒ ของญาณ ๗๓) โยคีที่ถึงญาณนี้ แม้กิเลสจะถูกประหารไปได้อย่างเด็ดขาดด้วยมัคคญาณ แต่อำนาจของกิเลสยังคง เหลืออยู่ ผู้ที่มีโทสะและโลภะมาก ก่อนเข้าปฏิบัติจะรู้ชัดเจนว่าตัวเองมีโทสะและโลภะลดลงไป อย่างมาก แต่ผู้ที่เคยมีโทสะและโลภะน้อย อาจสังเกตุเห็นการพัฒนาจิตหรือผลที่ได้ไม่ค่อยชัดเจนก็มี
ในญาณนี้ โยคีเริ่มกลับมามีรูปนามเป็นอารมณ์อีกครั้งและได้เสวยอารมณ์ของสมาธิสุข อย่างเต็มเปี่ยมที่เรียกว่า การเสวยผล(การเสวยอารมณ์)หลังออกจากอารมณ์พระนิพพาน การเสวยผลของแต่ละท่านจะกินระยะเวลานานไม่เท่ากัน แต่อารมณ์ขณะนั้นจิตจะมีแต่ความสงบสุข เรียกว่าสมาธิสุขสมบูรณ์ เพราะจิตกลับมามีรูปนามเป็นอารมณ์อีกครั้งหลังจากที่ได้บรรลุถึง นิพพานสุขซึ่งความสุขทั้ง ๒ ชนิดเป็นความสุขที่สูงกว่ากามสุข(ความสุขทางโลก) และมีผลทำให้ผู้ปฏิบัติมีหน้าตาผิวพรรณผ่องใส อินทรีย์บริสุทธิ์ผุดผ่อง มีน้ำมีนวลเปล่งปลั่ง อิ่มเอิบ สงบร่มเย็นทางใจเป็นที่สุด โยคีเท่านั้นที่จะรับรู้ได้ถึงสมาธิสุขอันนี้ ซึ่งเป็นความสุขทางใจ ที่ประเสริฐกว่ากามสุขของผู้คนในโลกทั่วไป ที่ไม่เคยปฏิบัติจนได้เข้าถึงผลญาณ
ในช่วงของผลญาณ หากจิตของผู้ปฏิบัติบางท่านยังคงเคลื่อนอารมณ์เข้าสู่การดับของรูปนาม หรือผลสมาบัติเป็นบางครั้งบางคราว วิปัสสนาจารย์จะให้โยคีอธิษฐานเข้าผลสมาบัติ เพื่อให้ฝึกอธิษฐานดับนานก่อน แล้วจึงฝึกอธิษฐานดับมาก ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของวิปัสสนาจารย์ ตามความเหมาะสมของแต่ละท่าน


การอธิษฐานเข้าผลสมาบัติ ๒ วิธี
ผลสมาบัติคือผลจิต(การดับของจิต)ของอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ซึ่งปุถุชนธรรมดาเข้าหรือทำไม่ได้ ในขณะที่เข้าผลสมาบัติอยู่ บุคคลจะไม่รับอารมณ์ใดๆ จากทางขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เพราะจิตจะเคลื่อนเข้าสู่การดับของรูปนามที่มีสภาพคล้ายกับอารมณ์พระนิพพาน เพียงแต่ไม่ได้ประหารกิเลสเพิ่มด้วย การอธิษฐานเข้าผลสมาบัติ ๒ วิธีดังนี้



๑. อธิษฐานดับนาน
วิปัสสนาจารย์จะให้อธิษฐานกำหนดในใจเพื่อเข้าผลสมาบัติ โดยไม่ต้องออกเสียงในขณะนั่งสมาธิจากการกำหนดรูปนามจนได้ปัจจุบันอารมณ์ แล้วเริ่มกำหนดในใจว่า “ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้จิตของข้าพเจ้า ดับสงบต่อเนื่องไป ๕ นาที” ในการอธิษฐานนี้ ผู้ปฏิบัติควรเดินจงกรมด้วยทุกครั้งให้เท่ากับเวลาที่นั่ง เพื่อป้องกันความคิด ฟุ้งซ่านและจะทำให้การอธิษฐานดับนานบังเกิดขึ้น
เมื่ออธิษฐานดับได้ ๕ นาทีหรือได้ใกล้เคียง ต่อไปให้ขยับขึ้นเป็น ๑๐, ๑๕, ๒๐, หรือ ๓๐ นาที เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนแก่โยคีในความเหน็ดเหนื่อย ยากลำบากที่ได้เผชิญทุกขเวทนาต่างๆ ของการปฏิบัติตั้งแต่เริ่มต้นถึงปัจจุบัน โดยจะทำให้จิตเกิดศรัทธา ได้รับสมาธิสุข และยังทำให้ผิวพรรณ อินทรีย์ บริสุทธิ์ผุดผ่อง
ขณะที่จิตเข้าสู่ผลสมาบัติ โยคีจะไม่สามารถรับรู้อะไรที่เกี่ยวกับโลกนี้และโลกหน้าได้เลย แม้ว่าอารมณ์ทั้งหลายมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จะเกิดขึ้นรอบๆ ตัว โดยที่โยคีจะกำหนดอารมณ์ใดๆ ไม่ได้เลยเพราะอัปปนาชวนจิต(สมาธิระดับแนบแน่น) ดำรงอยู่ในท่านั่งตามที่อธิษฐานไว้ แต่สำนักวิปัสสนาบางแห่งอาจจะให้อธิษฐานเข้าดับนานมากกว่า ๓๐ นาที เช่น ๔๕ นาที, ๑, ๓, ๖ ชั่วโมงหรือมากกว่าก็มี


๒. อธิษฐานดับมาก
หลังจากอธิษฐานดับนานได้แล้ว วิปัสสนาจารย์จะให้อธิษฐานดับมากของรูปนาม ในช่วงผลญาณ(ญาณที่ ๑๕) ด้วยการกำหนดในใจโดยไม่ต้องออกเสียงในขณะนั่งสมาธิ หลังจากเดินจงกรมว่า “ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้จิตของข้าพเจ้า ดับไปให้มาก” โดยให้กำหนดว่ารู้หนอ ในขณะที่รูปนามดับไปและคาดคะเนว่ามีจำนวนที่ดับไปประมาณกี่ครั้ง
ในพระไตรปิฎก คัมภีร์วิสุทธิมรรค และอภิธัมมัตถสังคหะ ได้อธิบายเรื่องผลสมาบัติ ด้วยการอธิษฐานจิตดับนาน ส่วนเรื่องการอธิษฐานดับจิตให้มากนั้นเกิดจากประสบการณ์ของ บูรพาจารย์ ที่ถ่ายทอดกันมาในเชิงปฏิบัติ เพื่อให้เห็นสันตติขาดหรือการดับไปของรูปนาม ซึ่งเป็นผลดีต่อศรัทธา เป็นบุญกุศล และยังสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติต่อไป สำหรับสำนัก วิปัสสนาบางแห่งจะใช้วิธีอธิษฐานดับมากต่างกันเช่น กำหนดว่า “ภายใน ๔๕ นาทีนี้ ขอให้จิตของข้าพเข้าดับไปให้มาก” จากนั้นอธิษฐานดับมากในเวลาที่นั่งสมาธิ ให้ลดน้อยลงเป็น ๓๐, ๒๕, ๒๐, ๑๕ นาที โดยเดินจงกรมให้เท่ากับนั่งสมาธิ เพื่อให้เห็นการเกิดดับของรูปนามให้มาก


สมาบัติ ๓ ประเภท
ผลสมาบัติหรือการอธิษฐานจิตให้ดับนานเป็น ๑ ในสมาบัติ ๓ ประเภทดังนี้
๑. ฌานสมาบัติ เกิดขึ้นได้จากบุคคลที่ปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานที่ไม่ใช่วิปัสสนา จนสามารถ เข้าถึงความดับของรูปนามซึ่งคล้ายกับผลสมาบัติ ต่างกันตรงที่ว่า กิเลสไม่ได้หมดไปอย่างถาวร
๒. ผลสมาบัติ เกิดขึ้นได้จากบุคคลที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนบรรลุถึงโลกุตตรสุขของ อริยบุคคล ตั้งแต่ พระโสดาบัน(ผู้ที่ผ่านญาณ ๑๖ ครั้งแรก)ขึ้นไป ที่อธิษฐานจิตเข้าถึง ผลสมาบัติ(อธิษฐานจิต ดับนาน) โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๓. นิโรธสมาบัติ เป็นโลกุตตรสุขของเฉพาะอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีและพระอรหันต์(เฉพาะผู้ที่ทำสมาธิจนได้ สมาบัติ ๘) ที่ได้อธิษฐานจิตเข้านิโรธสมาบัติ โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
การเข้านิโรธในมนุษยภูมินั้นเข้าได้เพียง ๗ วัน แต่ในรูปพรหมนั้นไม่จำกัดเวลา ถ้าต้องการเข้านานเท่าใดก็ทำได้ แต่การเข้านิโรธสมาบัติต้องเข้าฌานก่อน โดยเข้าตั้งแต่ปฐมฌาน, ทุติยฌาน, ตติยฌานและจตุตถฌาน(รูปฌาน ๔) แล้วต่ออรูปฌานอีก ๔ รวมเป็นสมาบัติ๘ ประการ แล้วจึงเข้านิโรธสมาบัติ แต่ทุกๆ ฌานที่เข้าต้องมีวิปัสสนาประกอบไปด้วยเสมอ


ญาณที่ ๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ปัญญาของจิตที่กำหนดจนรู้เห็น โดยสำรวจทบทวน ย้อนหลังเพื่อดูความเป็นมาและผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติรวม ๕ ประการของพระโสดาบัน สกทาคามี และอนาคามี คือมรรคจิต, ผลจิต, นิพพาน, กิเลสที่ละได้แล้วและกิเลสที่ยังหลงเหลืออยู่ แต่สำหรับพระอรหันต์จะทำการทบทวนเพียง ๔ ประการแรก ยกเว้นกิเลสที่ยังเหลืออยู่ เพราะท่านหมดกิเลสแล้ว ญาณนี้ปรากฏในพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๑๓ - วิมุตติญาณ และ ๑๔ - ปัจจเวกขณญาณ ของญาณ ๗๓)
หลังจากเสวยผลญาณจนกระทั่งอ่อนกำลังลง จิตจะเริ่มแสดงอารมณ์ของปัจจเวกขณญาณที่ ๑๖ โดยเฉพาะในขณะกำลังเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ ไม่ว่าอิริยาบถย่อย เดินจงกรม หรือนั่งสมาธิ เพื่อแสดงให้เห็นว่ายังมีกิเลสหลงเหลืออยู่อีก สำหรับรอการประหารในรอบต่อไปในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นโมหะ โลภะ หรือโทสะ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้ง ๓ ก็ได้
นอกจากกิเลสที่เหลืออยู่ โยคีบางท่านอาจเห็นกิเลสบางอย่างที่เบาคลายลงหรือละได้แล้วก็มี โดยที่ผู้ปฏิบัติเพียงแต่จดจำอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้น แล้วนำไปส่งอารมณ์กับวิปัสสนาจารย์ตามที่ กำหนดได้จริงว่า มีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นที่กำหนดได้ในระหว่างเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือในระหว่างวัน มีเหตุการณ์และอารมณ์ช่วงนี้เป็นอย่างไร
สำหรับวิปัสสนาญาณที่ ๑๔(มัคคญาณ) และ ๑๕(ผลญาณ) ทั้ง ๒ นั้นจัดเป็นญาณในระดับโลกุตตรญาณ ส่วนที่เหลืออีกทั้งหมดของวิปัสสนาญาณ ๑๖ เป็นเพียงโลกียญาณเท่านั้น


การอธิษฐานทวน วิปัสสนาญาณ(ญาณสมาบัติ) ๒ วิธี
การทวนญาณ(วิปัสสนาญาณ) หรือเรียกว่า ญาณสมาบัติ จะทำได้โดยผู้ที่ปฏิบัติได้ครบวิปัสสนาญาณ ๑๖ เท่านั้น และเป็นการอธิษฐานเพื่อให้จิตแสดงสภาวธรรมของวิปัสสนาญาณที่ได้ปฏิบัติผ่านมาแล้ว เพื่อให้โยคีเกิดความศรัทธาและเข้าใจสภาวธรรมที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งเป็นประโยชน์โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่จะเป็นวิปัสสนาจารย์เผยแผ่ต่อไป ในพระไตรปิฎก, คัมภีร์วิสุทธิมรรค หรืออภิธัมมัตถสังคหะ ไม่ได้ปรากฏหลักฐานเรื่องการอธิษฐานทวนญาณ แต่จะมีปรากฏเพียงเรื่องผลสมาบัติ(การอธิษฐานดับนาน) การทวนญาณเกิดขึ้นจากประสบการณ์ปฏิบัติของบูรพาจารย์ โดยใช้หลักการเดียวกับการอธิษฐานดับนานและดับมากของผลสมาบัติ การอธิษฐานจะเริ่มทวนญาณที่ ๔ - ๑๒ แต่บางสำนักจะทวนเพียงญาณที่ ๔ - ๑๑ เท่านั้น
เมื่อผู้ที่ปฏิบัติถึงญาณที่ ๑๖ จนสภาวธรรมปรากฏครบถ้วนทั้งโมหะ โลภะ และโทสะแล้ววิปัสสนาจารย์จะให้อธิษฐานทวนวิปัสสนาญาณที่ ๔ ถึง ๑๒ ในท่านั่งสมาธิ ๓๐ นาทีหลังจากเดินจงกรม ๓๐ นาที โดยให้กำหนดตามรูปแบบตอนที่มาฝึกใหม่ๆ ด้วยการอธิษฐาน ทวนญาณ ๒ วิธีดังนี้


๑. ทวนญาณตามลำดับ
๑) ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้ อุทยัพพยญาณ จงเกิดขึ้น
๒) ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้ ภังคญาณ จงเกิดขึ้น
๓) ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้ ภยญาณ จงเกิดขึ้น
๔) ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้ อาทีนวญาณ จงเกิดขึ้น
๕) ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้ นิพพิทาญาณ จงเกิดขึ้น
๖) ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้ มุญจิตุกัมยตาญาณ จงเกิดขึ้น
๗) ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้ ปฏิสังขาญาณ จงเกิดขึ้น
๘) ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้ สังขารุเบกขาญาณ จงเกิดขึ้น
๙) ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้ อนุโลมญาณ จงเกิดขึ้น


๒. ทวนญาณสลับ
เมื่ออธิษฐานจนครบทั้ง ๙ ญาณ(ญาณที่ ๔ – ๑๒) หากวิปัสสนาญาณใดปรากฏไม่ชัดเจน วิปัสสนาจารย์จะให้อธิษฐานทวนญาณสลับประมาณ ๓ ญาณอีกครั้งโดยไม่ต้องเรียงกันเช่น ทวนญาณที่ ๕, ๑๑, และ ๗ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถอธิษฐานทวนญาณใดให้เกิดขึ้นก็ได้ โดยโยคีไม่จำเป็นต้องรู้ความหมายในแต่ละญาณที่เป็นภาษาบาลี นอกจากนั้นการอธิษฐาน จะใช้เป็นภาษาใดก็ได้เช่น อังกฤษ จีน หรือพม่า โยคีเพียงแค่ออกเสียงชื่อแต่ละญาณ โดยเขียนคำออกเสียงตามภาษาบาลี เช่น “Within these 30 minutes, may (uttayap-paya-yan) be present” ฉะนั้นไม่ว่าโยคีชนชาติใด เมื่อปฏิบัติสำเร็จครบวิปัสสนาญาณ ๑๖ จะสามารถทวนญาณ ได้ด้วยทุกภาษา แม้ว่าจะไม่รู้ความหมายชื่อของญาณที่ ๔ ถึง ๑๒ ก็ตาม
สำหรับผู้ที่ผ่านญาณ ๑๖ แล้วติดธุระการงาน โดยไม่มีเวลาทำการอธิษฐานทวนญาณทันที ผู้นั้นจะสามารถอธิษฐานทวนญาณในภายหลังได้ แม้ว่าจะผ่านเลยไปหลายเดือน


การอธิษฐานขึ้นวิปัสสนากัมมัฏฐานรอบใหม่
หลังจากผู้ปฏิบัติผ่านวิปัสสนาญาณ ๑๖, อธิษฐานดับนาน, อธิษฐานดับมาก และอธิษฐาน ทวนญาณที่ ๔ ถึง ๑๒ ครบหมดจนเป็นที่พอใจแล้ว วิปัสสนาจารย์จะให้โยคีอธิษฐาน ขึ้นสู่ วิปัสสนากัมมัฏฐานในรอบใหม่ที่สูงขึ้น มิฉะนั้นแล้วสภาวะธรรมจะปรากฏแต่ของเก่าวนเวียนไปมา หลังจากอธิษฐานแล้วสภาวะธรรมจะเริ่มเป็นปรากฎของใหม่ทันทีด้วยคำอธิษฐานต่อหน้าพระประธาน ดังนี้ “ธรรมะอันใดที่เกิดขึ้นในขันธสันดานของข้าพเจ้า ขออย่าให้เกิดขึ้นอีก ธรรมะพิเศษเบื้องสูงอันใด ที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้พบ ขอให้พบ ให้ถึงเทอญ” (อธิษฐาน ๓ รอบ)
ขอคุณกัลยาณธรรม http://vipassanameditationthailand.blogspot.com/2013/09/blog-post_20.html

วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เปรียบเทียบสภาวะ สมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา

เปรียบเทียบสภาวะ
สมถภาวนา
วิปัสสนาภาวนา
สภาวะ (อาการของจิต)
เป็นไปด้วอำนาจของสมาธิ (จิตตั้งอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  หรือมีอารมณ์เป็นอันเดียวกัน
เป็นไปด้วยอำนาจของปัญญา (รู้รูปนามขันธ์ ๕ รู้กฏอันเป็นไปตามธรรมดาของไตรลักษณ์)
ลักษณะ
มีจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหวหรือความฟุ่งซ่าน
มีปัญญารู้แจ้งความจริงในสภาวธรรมทั้งปวง
กิจ
สามารถข่มนิวรณ์ ๕  ได้
สามารถจำจัดความไม่รู้ (อวิชชา) ที่ปิดบังความจริงของสภาวธรรมทั้งปวงได้
สมาธิ
ใช้สมาธิระดับอุปาจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ
ใช้สมาธิระดับขณิกสมาธิ
องค์ธรรม
ใช้เอกัคคตาเจตสิก
ใช้ปัญญาเจตสิก
ประเภทของธรรม
จัดอยู่ในประเภทโลกิยธรรมเมื่อไม่ได้เจริญบ่อยๆ  หรือไม่ได้ทำจนเป็นวสี  ย่อมเสื่อมได้
จัดอยู่ในประเภทโลกุตรธรรมเมื่อได้เจริญถึงวิปัสสนาขั้นสูงคือ มัคคจิตย่อมไม่เสื่อม
จิต
จัดเป็นมหัคคตจิต (จิตฌานลาภีบุคคลผู้ประเสริญเข้าถึงได้
จัดเป็นโลกุตตรจิต (จิตที่พ้นจากกามภูมิและอรูปภูมิ)  มีนิพพานเป็นอารมณ์
นิมิต
นิมิต ๓  คือบริกรรมนิมิต  อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต
ไม่มีนิมิตอย่ายได้อย่างหนึ่ง
ทวาร
ใช้เพียร ๔ ทวาร คือ  จักขุทวาร  โสตทวาร  กายทวาร  และมโนทาวร
ใช้ได้ทั้ง ๖ ทวารคือ  ปัญจทวารและมโนทวาร
ปหาน
ละกิเลสด้วยอำนาจของการข่มด้วยองค์ฌานเป็นการสงบชั่วขณะ  ประดุจหินทับหญ้า  เรียกว่า  วิกขัมภนปหาน
ละกิเลสชนิดที่ถาวรด้วยอำนาจของโลกุรตรมรรคหรืออมัคคจิต เรียกว่าสุมจเฉทปหาน ละกิเลสเด็ดขาดไม่ต้องขวนขวายเพื่อดับอีก เรียกว่า ปฏิปัสสัทธิปหาร  กิเลสดับเสร็จแล้ว คือ นิพพาน เรียกว่า นิสสรณปหาน
อารมณ์
ใช้อารมณ์บัญญัติ หรือสิ่งภายนอกร่างกายอย่างใดอย่างหนึ่งในอารมณ์ ๔๐ อย่าง
ใช้อารมณ์ปรมัตถ์ คือ รูป-นาม หรือสติปัฏฐาน ๔ อันเป็นที่ตั้งที่เกิดของวิปัสสนา เรียกว่า วิปัสสนาภูมิ ๖  มีขันธ์ ๕ เป็นต้น
การเพ่ง(ฌาน)
อารัมมณูปนิชิฌาน  การเพ่งด้วยจิตยึดมั่นในอารมณ์ได้แก่  ฌาน  สมาบัติ
ลักขณูปนิชฌาน  การเพ่งพินิจลักษณะอารมณ์ให้เห็นไตรลักษณ์
ผลปรากฏ (ปัจจุปัฏฐาน)
ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ต่างๆ
มีความรู้  และความเห็นตรงความเป็นจริง
เหตุใกล้ (ปทัฏฐาน)
มีความสุขความพอใจในความสงบเมื่อใจเป็นสุขแล้วย่อมไม่ดิ้นรนกวัดแกว่งไปในกามคุณอารมณ์
มีสติและสัมปชัญญะ (ปัญญา) รู้รูปนามในปัจจุบัน
จริต
มีจริต  ๖ อย่างคือ ราคจริต  โทสจริต โมหจริต ศรัทธาจริต  พุทธิจริต  และวิตกจริต การทำสมถต้องอารมณ์ให้เหมาะกับจริตนิสัยของผู้นั้น
มีจริต ๒ ประเภท  คือ ตัณหากับทิฏฐิ ในจริตทั้ง ๒ นี้ แยกย่อยออกไปอีกอย่างละ ๒ คือ ตัณหาจริตที่มีปัญญาอ่อน กับมีปัญญากล้าและทิฏฐิจริตที่มีปัญญาอ่อนกับทิฏฐิจริต  มีปัญญากล้า
บุคคล
เป็นบุคคลที่ปฏิสนธิด้วยไตยเหตุ  ไม่เคยทำอนันตริยกรรม ๕  ไม่ประกอบด้ยวนิยตมิจฉาทิฏฐิ
เป็นบุคคลที่ปฏิสนธิด้วยไตยเหตุ  ไม่เคยทำอนันตริยกรรม ๕  ไม่ประกอบด้ยวนิยตมิจฉาทิฏฐิ
วิธีปฏิบัติ
ใช้สติกำหนดหรือจับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔๐ อย่าง โดยให้จิตนิ่งอยู่ในอารมณ์นั้นๆ เพียงอารมณ์เดียวจนความสงบของจิตจะเกิดขึ้น
ใช้สติกำหนดตามทวารทั้ง ๖ ที่ปรากฏในขณะปัจจุบันกำหนดรู้พิจารณาอยู่เฉพาะการเกิดขึ้นและการดับไปของรูป-นาม
ผลและอานิสงส์ที่ได้รับ






อ้างอิง
พระครูปลัดสัมภิพัฒนธรรมาจารย์
-เข้าฌานสมาบัติได้
-ได้อภิญญา
-ทำให้จิตใจเกิตความสงบเยือกเย็นเป็นสุขจึงเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติติดอยู่กับความสงบความสุข  ไม่สามารถใช้ปัญญาในการกำหนดรู้ทุกข์ และทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ความสงบที่เข้าถึงนั้น คือ พระนิพพาน
-ได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔
-ไปเกิดในสุคติรหมโลก  แต่ยังต้องกลับมาเกิดใหม่อีกใน ๓๑ ภูมิ
-เข้าผลสามบัติได้
-ได้อภิญญา ๖
-ได้วิชชา ๘
-ปัญญารู้ความจริงตามสภาวธรรมเรียกว่า วิปัสสนาญาณ
-ได้มรรคผล นิพพาน คือไม่ต้องกลับมาเกิดอีกใน ๓๑ ภูมิ หรือในสังสารวัฏฏทุกข์ คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเป็นจุดประสงค์สูงสุดอย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนา

อิทัปปัจจยตาในปฏิจจสมุปบาท (แปล)


อิทัปปัจจยตาในปฏิจจสมุปบาท
(หันทะ มะยัง ปะฏิจจะสะมุปปาทะธัมเมสุ
อิทัปปัจจะยะตาทิธัมมะปาฐัง ภะณามะ เส)

กะตะโม จะ ภิกขะเว ปะฏิจจะสะมุปปาโท, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างไรเล่า?
(๑) ชาติปัจจะยา ภิกขะเว ชะรามะระณัง,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะการเกิด (ชาติ) เป็นปัจจัยความแก่และความตาย (ชรามรณะ) ย่อมมี,
* อุปปาทา วา ภิกขะเว ตะถาคะตานัง, อะนุปปาทา วา ตะถาคะตานัง,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้พระตถาคตทั้งหลาย,จะบังเกิดขึ้นก็ตาม จะไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม,
ฐิตา วะ สา ธาตุ, ............ธรรมธาตุนั้น ย่อมตั้งอยู่แล้ว นั่นเทียว,
ธัมมัฏฐิตะตา, ................คือความตั้งอยู่แห่งธรรมดา,
ธัมมะนิยามะตา, ............คือความเป็นกฎตายตัวแห่งธรรมดา,
อิทัปปัจจะยะตา, ............คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น,
ตัง ตะถาคะโต อะภิสัมพุชฌะติ อะภิสะเมติ,
ตถาคตย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ย่อมถึงพร้อมเฉพาะ ซึ่งธรรมธาตุนั้น,
อะภิสัมพุชฌิต๎วา อะภิสะเมต๎วา,ครั้นรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ถึงพร้อมเฉพาะแล้ว,
อาจิกขะติ เทเสติ, ...........ย่อมบอก ย่อมแสดง,
ปัญญะเปติ ปัฏฐะเปติ, .....ย่อมบัญญัติ ย่อมตั้งขึ้นไว้,
วิวะระติ วิภะชะติ, ............ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง,
อุตตานีกะโรติ, ................ย่อมทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่คว่ำ,
ปัสสะถาติ จาหะ, ชาติปัจจะยา ภิกขะเว ชะรามะระณัง,
และได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาดู
เพราะการเกิด (ชาติ) เป็นปัจจัย ความแก่และความตาย (ชรามรณะ) ย่อมมี,

** อิติ โข ภิกขะเว, ..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุดังนี้แล,
ยา ตัต๎ระตะถะตา, ............ธรรมธาตุใดในกรณีนั้นอันเป็นตถตา คือความเป็นอย่างนั้น,
อะวิตะถะตา, ...................เป็นอวิตถตา คือความไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น,
อะนัญญะถะตา ................เป็นอนัญญถตา คือความไม่เป็นไปโดยประการอื่น
อิทัปปัจจะยะตา, เป็นอิทัปปัจจยตา คือความที่เมื่อสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น,
อะยัง วุจจะติ ภิกขะเว ปะฏิจจะสะมุปปาโท, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ เราเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท,
(คือธรรมอันเป็นธรรมชาติอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น)
(๒) ภะวะปัจจะยา ภิกขะเว ชาติ, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะภพเป็นปัจจัย การเกิด (ชาติ) ย่อมมี, (*)
ปัสสะถาติ จาหะ, ภะวะปัจจะยา ภิกขะเว ชาติ,และได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาดูเพราะภพเป็นปัจจัย การเกิด (ชาติ) ย่อมมี, (**)

(๓) อุปาทานะปัจจะยา ภิกขะเว ภะโว,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะความยึดมั่น (อุปาทาน) เป็นปัจจัย ภพย่อมมี, (*)
ปัสสะถาติ จาหะ, อุปาทานะปัจจะยา ภิกขะเว ภะโว,
และได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาดู
เพราะความยึดมั่น (อุปาทาน) เป็นปัจจัย ภพย่อมมี, (**)

(๔) ตัณหาปัจจะยา ภิกขะเว อุปาทานัง,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะความอยาก (ตัณหา) เป็นปัจจัยความยึดมั่น (อุปาทาน) ย่อมมี, (*)

ปัสสะถาติ จาหะ, ตัณหาปัจจะยา ภิกขะเว อุปาทานัง,
และได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาดู
เพราะความอยาก (ตัณหา) เป็นปัจจัย ความยึดมั่น (อุปาทาน) ย่อมมี, (**)

(๕) เวทะนาปัจจะยา ภิกขะเว ตัณหา,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะความเสวยอารมณ์ (เวทนา) เป็นปัจจัยความอยาก (ตัณหา) ย่อมมี, (*)
ปัสสะถาติ จาหะ, เวทะนาปัจจะยา ภิกขะเว ตัณหา, และได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาดูเพราะความเสวยอารมณ์ (เวทนา) เป็นปัจจัย ความอยาก (ตัณหา) ย่อมมี, (**)

(๖) ผัสสะปัจจะยา ภิกขะเว เวทะนา, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะการกระทบ (ผัสสะ) เป็นปัจจัย
ความเสวยอารมณ์ (เวทนา) ย่อมมี, (*)
ปัสสะถาติ จาหะ, ผัสสะปัจจะยา ภิกขะเว เวทะนา, และได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาดูเพราะการกระทบ (ผัสสะ) เป็นปัจจัย ความเสวยอารมณ์ (เวทนา) ย่อมมี, (**)

(๗) สะฬายะตะนะปัจจะยา ภิกขะเว ผัสโส,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอายตนะ ๖ (สฬายตนะ) เป็นปัจจัยการกระทบ (ผัสสะ) ย่อมมี, (*)
ปัสสะถาติ จาหะ, สะฬายะตะนะปัจจะยา ภิกขะเว ผัสโส, และได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาดูเพราะอายตนะ ๖ (สฬายตนะ) เป็นปัจจัย การกระทบ (ผัสสะ) ย่อมมี, (**)

(๘) นามะรูปะปัจจะยา ภิกขะเว สะฬายะตะนัง, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะกายและจิต (นามรูป) เป็นปัจจัย
อายตนะ ๖ (สฬายตนะ) ย่อมมี, (*)ปัสสะถาติ จาหะ, นามะรูปะปัจจะยา ภิกขะเว สะฬายะตะนัง,
และได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาดูเพราะกายและจิต (นามรูป) เป็นปัจจัย อายตนะ ๖ (สฬายตนะ) ย่อมมี, (**)

(๙) วิญญาณะปัจจะยา ภิกขะเว นามะรูปัง, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะความรู้แจ้งอารมณ์ (วิญญาณ) เป็นปัจจัยกายและจิต (นามรูป) ย่อมมี, (*)
ปัสสะถาติ จาหะ, วิญญาณะปัจจะยา ภิกขะเว นามะรูปัง, และได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาดูเพราะความรู้แจ้งอารมณ์ (วิญญาณ) เป็นปัจจัย กายและจิต (นามรูป) ย่อมมี, (**)

(๑๐) สังขาระปัจจะยา ภิกขะเว วิญญาณัง, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะการปรุงแต่ง (สังขาร) เป็นปัจจัย
ความรู้แจ้งอารมณ์ (วิญญาณ) ย่อมมี, (*)
ปัสสะถาติ จาหะ, สังขาระปัจจะยา ภิกขะเว วิญญาณัง,
และได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาดูเพราะการปรุงแต่ง (สังขาร) เป็นปัจจัย ความรู้แจ้งอารมณ์ (วิญญาณ) ย่อมมี, (**)

(๑๑) อะวิชชาปัจจะยา ภิกขะเว สังขารา, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะความไม่รู้ (อวิชชา) เป็นปัจจัย
การปรุงแต่ง (สังขาร) ย่อมมี,
อุปปาทา วา ภิกขะเว ตะถาคะตานัง, อะนุปปาทา วา ตะถาคะตานัง, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้พระตถาคตทั้งหลาย,จะบังเกิดขึ้นก็ตาม จะไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม,
ฐิตา วะ สา ธาตุ, ..............ธรรมธาตุนั้น ย่อมตั้งอยู่แล้ว นั่นเทียว,
ธัมมัฏฐิตะตา, .................คือความตั้งอยู่แห่งธรรมดา,
ธัมมะนิยามะตา, ..............คือความเป็นกฎตายตัวแห่งธรรมดา,

อิทัปปัจจะยะตา, คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น,
ตัง ตะถาคะโต อะภิสัมพุชฌะติ อะภิสะเมติ,
ตถาคตย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ย่อมถึงพร้อมเฉพาะ ซึ่งธรรมธาตุนั้น,
อะภิสัมพุชฌิต๎วา อะภิสะเมต๎วา,
ครั้นรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ถึงพร้อมเฉพาะแล้ว,
อาจิกขะติ เทเสติ, ............ย่อมบอก ย่อมแสดง,
ปัญญะเปติ ปัฏฐะเปติ, ......ย่อมบัญญัติ ย่อมตั้งขึ้นไว้,
วิวะระติ วิภะชะติ, ............ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง,
อุตตานีกะโรติ, ................ย่อมทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่คว่ำ,
ปัสสะถาติ จาหะ, อะวิชชาปัจจะยา ภิกขะเว สังขารา,
และได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาดู
เพราะความไม่รู้ (อวิชชา) เป็นปัจจัย การปรุงแต่ง (สังขาร) ย่อมมี,
อิติ โข ภิกขะเว, ..............ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุดังนี้แล,

ยา ตัต๎ระตะถะตา, ธรรมธาตุใดในกรณีนั้นอันเป็นตถตา คือความเป็นอย่างนั้น,
อะวิตะถะตา, ..................เป็นอวิตถตา คือความไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น,
อะนัญญะถะตา, ..............เป็นอนัญญถตา คือความไม่เป็นไปโดยประการอื่น,
อิทัปปัจจะยะตา, เป็นอิทัปปัจจยตา คือความที่เมื่อสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น,
อะยัง วุจจะติ ภิกขะเว ปะฏิจจะสะมุปปาโท,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ เราเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท,(คือธรรมอันเป็นธรรมชาติอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น)
อิติ, ...............................ด้วยประการฉะนี้แล.

(บาลีทสมสูตร นิทาน.สํ. ๑๖/๓๐/๖๑)
(หมายเหตุ) เมื่อจะสวดข้อที่ ๒ ถึงข้อที่ ๑๐ ย้อนไปสวดตามเครื่องหมาย * , **
จนจบเหมือนข้อที่ ๑