วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อานิสงค์ ผลบุญกุศลที่ได้รับจากการปฏิบัติกรรมดี

กุณฑลิยสูตร
กล่าวโดยย่อ  แสดงผลานิสงค์ หรือผลบุญกุศลที่ได้รับจากการปฏิบัติกรรมดีเป็นลำดับ  โดยเริ่มกล่าวตั้งแต่อินทรีย์สังวร การสำรวมระมัดระวังในอินทรีย์ทั้ง ๖  เป็นเหตุปัจจัยเกื้อหนุนให้เจริญใน สุจจริต ๓ ในกาย วาจา ใจ สุจจริต ๓ ในกาย วาจา ใจ เป็นเหตุปัจจัยสนับสนุนให้เจริญใน สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นเหตุปัจจัยสนับสนุนให้เจริญใน โพชฌงค์ ๗ ที่ยังให้วิชชาและวิมุติบริบูรณ์หมายถึง ถึงที่สุดของการดับไปแห่งกองทุกข์  อันเป็นสุขยิ่ง
 กุณฑลิยสูตร
ตถาคตมีวิชชาและวิมุติเป็นผลานิสงส์
    [๓๙๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอัญชนมฤคทายวัน ใกล้เมืองสาเกตครั้งนั้นแล กุณฑลิยปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเที่ยวไปในอาราม เข้าไปสู่บริษัทเมื่อข้าพเจ้าบริโภคอาหารเช้าแล้ว ในเวลาปัจฉาภัต ข้าพเจ้าเดินไปเนืองๆ เที่ยวไปเนืองๆสู่อารามจากอาราม สู่อุทยานจากอุทยาน  ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าเห็นสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
กำลังกล่าวถ้อยคำมีวาทะและการเปลื้องวาทะว่าดังนี้เป็นอานิสงส์  และมีความขุ่นเคืองเป็นอานิสงส์ส่วนท่านพระโคดมมีอะไรเป็นอานิสงส์อยู่เล่า?พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรกุณฑลิยะ ตถาคต มีวิชชาและวิมุติเป็นผลานิสงส์อยู่.
    [๓๙๕] ก. ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์?
    พ. ดูกรกุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.
    ก. ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์?
    พ. ดูกรกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.
    ก. ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์?
    พ. ดูกรกุณฑลิยะ สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์.
    ก. ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์?
    [๓๙๖] พ. ดูกรกุณฑลิยะ อินทรีย์สังวรอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์
อินทรีย์สังวร อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร  ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์?
ดูกรกุณฑลิยะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้  เห็นรูปที่ชอบใจด้วยจักษุแล้วย่อมไม่ยินดี ไม่ขึ้งเคียด ไม่ยังความกำหนัดให้เกิด(ตัณหา) และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว อนึ่ง เธอเห็นรูปที่ไม่ชอบใจด้วยจักษุแล้ว ก็ไม่เก้อ ไม่มีจิตตั้งอยู่
ด้วยอำนาจกิเลส ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดี ในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว.
    อีกประการหนึ่ง ภิกษุฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ที่ชอบใจ ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ยินดี ไม่ขึ้งเคียดไม่ยังความกำหนัดให้เกิด และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้วอนึ่ง เธอรู้ธรรมารมณ์ ที่ไม่ชอบใจด้วยใจแล้ว ไม่เก้อ ไม่มีจิตตั้งอยู่ด้วยอำนาจกิเลส ไม่เสียใจมีจิตไม่พยาบาท และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว.
    ดูกรกุณฑลิยะ เพราะเหตุที่ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว เป็นผู้คงที่ ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท เพราะรูปทั้งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ(เวทนา) กายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายในหลุดพ้นดีแล้ว ภิกษุฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ  รู้ธรรมารมณ์ ด้วยใจแล้ว เป็นผู้คงที่ ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาทเพราะธรรมารมณ์ ที่ชอบใจและไม่ชอบใจ และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายในหลุดพ้นดีแล้ว
ดูกรกุณฑลิยะอินทรีย์สังวรอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แลย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์.
    [๓๙๗] ดูกรกุณฑลิยะ ก็สุจริตเหล่านั้นอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญกายสุจริตเพื่อละกายทุจริตเจริญวจีสุจริตเพื่อละวจีทุจริต เจริญมโนสุจริตเพื่อละมโนทุจริตสุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์.
    [๓๙๘] ดูกรกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไรย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ ฯลฯ ย่อมพิจารณาเห็นจิตเนืองๆ อยู่ ฯลฯ.ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติพึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลกเสียได้
ดูกรกุณฑลิยะ  สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.
    [๓๙๙] ดูกรกุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไรย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรกุณฑลิยะโพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้สมบูรณ์.
    [๔๐๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว กุณฑลิยปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ  เปิดของที่ปิด  บอกทางแก่คนหลงทางหรือตามประทีปในที่มืด  ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้
ฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถึงท่านพระโคดมกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะขอท่านพระโคดม จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบ สูตรที่ ๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น