วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กรรม ๑๒

อริยสัจ ๔ : สมุทัย :กรรมนิยาม : กรรม ๑๒
กรรมนิยาม (Law of Kamma, Moral laws)
กรรมนิยามคือ กฎการให้ผลของกรรมหรือกฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์คือกระบวนการที่ก่อให้เกิดการกระทำและการให้ผลของการกระทำ มี ๒ ประการคือการกระทำดี ย่อมได้รับผลดี กระทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว

กรรม ๑๒ (kamma, action) กรรม หมายถึงการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ทั้งกรรมดีและกรรมชั่วจะก่อให้เกิดกรรมดีเมื่อมีเจตนาจะทำความดีและจะก่อให้เกิดกรรมชั่วเมื่อมีเจตนาจะทำความชั่ว ในที่นี้ หมายถึง กรรมประเภทต่างๆ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผลของกรรมเหล่านั้นกรรม ๑๒ แบ่งออกเป็น ๓ หมวดใหญ่ ๆ แต่ละหมวดแบ่งย่อยออกเป็น ๔ ดังนี้คือ

หมวดที่ ๑กรรมที่ให้ผลตามกาลเวลา คือจำแนกตามเวลาที่ให้ผลแบ่งเป็น

๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมหมายถึงกรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน หรือในชาตินี้เป็นกรรมที่มีพลังแก่กล้ามากจึงให้ผลในปัจจุบัน ฝ่ายกุศล ได้แก่ ศีล ทานที่ได้บำเพ็ญอยู่สม่ำเสมอ หรือกระทำกุศลอย่างแรงกล้า เช่นยินดีเสียสละความสุขหรือแม้แต่ชีวิตของตน เพื่อรักษาศีลให้บริสุทธิ์จะได้รับผลจากการกระทำในชาตินี้ ตัวอย่างเช่น ปุณณทาสชายเข็ญใจยินดีเสียสละโดยนำเอาอาหารที่ภรรยาตั้งใจนำมาให้ตนรับประทานนั้นน้อยถวายแด่พระสารีบุตรพระอรหันต์เจ้าเมื่อคราวที่ท่านออกจากนิโรธสมาบัติมาใหม่ ๆ ทานนั้นได้อำนวยผลให้ปุณณทาสผู้เข็ญใจกลับกลายไปเป็นมหาธนเศรษฐี ภายในเวลาไม่นานนัก และฝ่ายอกุศล อันได้แก่อกุศลหนักเช่นประทุษร้ายบิดามารดา หรือผู้มีศีลบริสุทธิ์ ตลอดจนความชั่วที่กระทำอยู่เสมอเช่นค้ายาเสพติด ย่อมถูกจับและถูกประหารชีวิตในที่สุด เป็นต้น

๒. อุปปัชชเวทนียกรรมหมายถึงกรรมที่ให้ผลที่ชาติหน้าหรือภพหน้า ได้แก่ กรรมดีก็ตาม กรรมชั่วก็ตามที่กระทำในขณะชาตินี้ จะให้ผลในชาติหน้า

๓. อปราปริยเวทนียกรรมหมายถึง กรรมที่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไปได้แก่กรรมดีก็ตาม กรรมชั่วก็ตาม จะให้ผลในชาติต่อ ๆ ไปเรื่อย ๆไม่มีกำหนดว่ากี่ชาติ สุดแต่ว่าจะได้โอกาสเมื่อไร ก็จะให้ผลเมื่อนั้นถ้ายังไม่มีโอกาสก็จะรอคอยอยู่ ตราบใดที่ผู้นั้นยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏกรรมนี้ก็จะคอยติดตามอยู่ตลอดเวลา ตามทันเมื่อใดก็ให้ผลเมื่อนั้น

๔. อโหสิกรรมหมายถึง กรรมที่เลิกให้ผล ได้แก่กรรมดีก็ตามกรรมชั่วก็ตาม ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะตอบสนองผลของการกระทำนั้น ๆกรรมนั้นก็จะสิ้นสุด ถือว่าเป็นการหมดกรรม

หมวดที่ ๒กรรมที่ให้ผลโดยกิจ คือกรรมที่ให้ผลตามหน้าที่แบ่งเป็น

๕. ชนกกรรมหมายถึง กรรมแต่งให้เกิดหรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ได้แก่ กรรมคือเจตนาดีก็ตาม ชั่วก็ตามที่เป็นตัวให้เกิดดุจบิดามารดา คือให้ผลในการปฏิสนธิ เช่น กระทำกรรมดีได้เกิดในตระกูลที่เป็นเศรษฐี เป็นต้น

๖. อุปัตถัมภกรรมหมายถึง กรรมสนับสนุน หรือกรรมอุปถัมภ์เป็นกรรมที่คอยสนับสนุนชนกกรรม เช่น เกิดมาในตระกูลยากจนแต่กระทำความดีช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ไม่ขาด อาจได้รับความเวทนาสงสารจากบุคคลอื่นให้ได้รับการศึกษา ได้มีงานทำ มีหน้าที่การงานก้าวหน้าจนสามารถยกฐานะของตนเองดีขึ้น เป็นต้น

๗. อุปปีฬกกรรมหมายถึง กรรมบีบคั้น หรือกรรมเบียดเบียนคือกรรมที่คอยบีบคั้น เบียดเบียน ทำให้กรรมที่ให้ผลอยู่ก่อนเบาบางลง เช่นเมื่อชนกกรรมนำไปเกิดในครอบครัวที่มั่งคั่ง แต่ถ้าเคยทำอกุศลกรรมอยู่เสมอครั้นเมื่อชนกกรรมหมดหน้าที่ เลิกให้ผล อกุศลกรรมซึ่งรอโอกาสอยู่ก็จะเข้ามาทำหน้าที่เบียดเบียนทันที อาจจะทำให้ยากจนลงหรือถูกกระทำให้พลัดพรากจากครอบครัวตกระกำลำบาก เป็นต้น

๘. อุปฆาตกกรรมหมายถึง กรรมตัดรอนเป็นกรรมที่มีอำนาจมากเป็นพิเศษ จะให้ผลอย่างรุนแรงในทันทีสามารถขจัดหรือทำลายกรรมที่ให้ผลอยู่ก่อนแล้วให้พ่ายแพ้หมดอำนาจลงได้จากนั้นกรรมตัดรอนก็จะเข้ามาให้ผลแทนต่อไป เช่น เกิดมาเป็นมหาเศรษฐี มีความสุขสบายอยู่ได้ไม่นานก็ถูกฆ่าตาย จัดเป็นกรรมตัดรอนฝ่ายชั่ว หรือเกิดมายากจนแต่ได้รับลาภใหญ่กลายเป็นเศรษฐีถือเป็นกรรมตัดรอนฝ่ายดี เป็นต้น

หมวดที่ ๓ กรรมที่ให้ผลตามความแรงคือกรรมที่ให้ผลตามความหนัก-เบา แบ่งเป็น

๙. ครุกรรมหมายถึง กรรมหนัก ได้แก่กรรมที่ให้ผลแรงมากฝ่ายดีได้แก่สมาบัติ ๘ (การบรรลุชั้นสูง) ฝ่ายชั่วได้แก่ การกระทำอนันตริยกรรม คือฆ่าบิดามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ประทุษร้ายพระพุทธเจ้า และทำให้สงฆ์แตกกัน ที่เรียกว่าสังฆเภท ผู้ใดกระทำกรรมเหล่านี้ แม้เพียงประการใดประการหนึ่งก็ตามกรรมจะให้ผลอย่างหนัก และให้ผลก่อนกรรมอื่น ๆ ไม่มีกุศลกรรมใด ๆจะสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้

๑๐. หหุลกรรมหรืออาจิณณกรรม หมายถึง กรรมสะสมได้แก่กรรมดีหรือกรรมชั่วที่ประพฤติมาก ๆ หรือทำบ่อย ๆ สั่งสมไปเรื่อย ๆกรรมไหนสะสมบ่อยและมาก ๆ ก็จะให้ผลกรรมเช่นนั้น

๑๑. อาสันนกรรมหมายถึง กรรมเมื่อใกล้ตายคือกรรมที่ระลึกได้เมื่อใกล้ตาย จะมีอิทธิพลในการเกิดในชาติใหม่ หรือชนกกรรม เช่นเมื่อใกล้ตายระลึกว่าชาตินี้ยากจน ได้ทำบุญกุศลไว้ไม่มากนักอยากเกิดเป็นลูกเศรษฐีจะได้ทำบุญกุศลให้มาก ๆเมื่อมาจุติในชาติต่อไปก็จะเกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง เป็นต้น

๑๒. กตัตตากรรมหมายถึง กรรมเล็ก ๆ น้อย หรือสักว่าทำ ได้แก่กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน หรือไม่ตั้งใจทำ ทำความดีหรือทำความชั่วเล็ก ๆ น้อย ๆที่เคยทำไว้ เมื่อกรรมอื่นๆ ให้ผลหมดแล้ว กรรมชนิดนี้ถึงจะให้ผลซึ่งเป็นกรรมที่มีอิทธิพลในการให้ผลน้อยที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น