วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

กฐิน

การทอดกฐิน เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรมค่ำเดือนสิบเอ็ด ไปจนถึงกลางเดือนสิบสอง

คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)

ผ้ากฐิน โดยความหมายก็คือผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง นิยมเรียกกันจนปัจจุบันนี้

การทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น

เขตกำหนดทอดกฐินการทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน

แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษะรับไว้ก่อนได้

การที่มีประเพณีทอดกฐินมีเรื่องว่า ในครั้งพุทธกาล พระภิกษุชาวปาไถยรัฐ (ปาวา) ผู้ทรงธุดงค์ จำนวน ๓๐ รูป เดินทางไกลไปไม่ทันเข้าพรรษา เหลือทางอีกหกโยชน์จะถึงนครสาวัตถี จึงตกลงพักจำพรรษาที่เมืองสาเกตตลอดไตรมาส เมื่อออกพรรษาจึงเดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดา ณ เชตวันมหาวิหารนครสาวัตถี ภิกษุเหล่านั้นมีจีวรเก่า เปื้อนโคลน และเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน ได้รับความลำบากตรากตรำมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงถือเป็นมูลเหตุ ทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุที่จำพรรษาครบสามเดือนกรานกฐินได้ และให้ได้รับอานิสงส์ ห้าประการคือ

๑) เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒) ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบ
๓) ฉันคณะโภชน์ได้
๔) ทรงอติเรกจีวรได้ตามปรารถนา
๕) จีวรอันเกิดขึ้นนั้นจะได้แก่พวกเธอ และได้ขยายเขตอานิสงส์ห้าอีกสี่เดือน นับแต่กรานกฐินแล้วจนถึงวันกฐินเดาะเรียกว่า มาติกาแปด คือการกำหนดวันสิ้นสุดที่จะได้จีวร คือ กำหนดด้วยหลีกไป กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ กำหนดด้วยตกลงใจ กำหนดด้วยผ้าเสียหาย กำหนดด้วยได้ยินข่าว กำหนดด้วยสิ้นหวัง กำหนดด้วยล่วงเขต กำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน

ฉะนั้น เมื่อครบวันกำหนดกฐินเดาะแล้ว ภิกษุก็หมดสิทธิ์ต้องรักษาวินัยต่อไป พระสงฆ์จึงรับผ้ากฐินหลังออกพรรษาไปแล้ว หนึ่งเดือนได้ จึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้

การทอดกฐินในปัจจุบัน ถือว่าเป็นทานพิเศษ กำหนดเวลาปีหนึ่งทอดถวายได้เพียงครั้งเดียว ตามอรรถกถาฎีกาต่าง ๆ พอกำหนดได้ว่าชนิดของกฐินมีสองลักษณะ คือ

จุลกฐิน การทำจีวร พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้เสร็จภายในกำหนดหนึ่งวัน ทำฝ้าย ปั่น กรอ ตัด เย็บ ย้อม ทำให้เป็นขันธ์ได้ขนาดตามพระวินัย แล้วทอดถวายให้เสร็จในวันนั้น

มหากฐิน คืออาศัยปัจจัยไทยทานบริวารเครื่องกฐินจำนวนมากไม่รีบด่วน เพื่อจะได้มีส่วนหนึ่งเป็นทุนบำรุงวัด คือทำนวกรรมบ้าง ซ่อมแซมบูรณของเก่าบ้าง ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า กฐินสามัคคี

การทอดกฐินในเมืองไทย แบ่งออกตามประเภทของวัดที่จะไปทอด คือพระอารามหลวง ผ้าพระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ไปพระราชทาน เครื่องกฐินทานนี้จัดด้วยพระราชทรัพย์ของพระองค์เอง เรียกว่า กฐินหลวง บางทีก็เสด็จไปพระราชทานยังวัดราษฎร์ด้วย นิยมเรียกว่า กฐินต้น ผ้ากฐินทานนอกจากที่ได้รับกฐินของหลวงโดยตรงแล้ว พระอารามหลวงอื่น ๆ จะได้รับ กฐินพระราชทาน ซึ่งโปรดเกล้า ฯ พระราชทานผ้ากฐินทาน และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หรือเอกชนให้ไปทอด โดยรัฐบาลโดยกรมศาสนาจัดผ้าพระกฐินทาน และเครื่องกฐินถวายไป ผู้ได้รับพระราชทานอาจจะถวายจตุปัจจัย หรือเงินทำบุญที่วัดนั้นโดยเสด็จในกฐินพระราชทานได้


ส่วนวัดราษฎร์ทั่วไป คณะบุคคลจะไปทอดโดยการจองล่วงหน้าไว้ก่อนตั้งแต่ในพรรษา ก่อนจะเข้าเทศกาลกฐินถ้าวัดใดไม่มีผู้จอง เมื่อใกล้เทศกาลกฐิน ประชาชนทายกทายิกาของวัดนั้น ก็จะรวบรวมกันจัดการทอดกฐิน ณ วัดนั้นในเทศกาลกฐิน

การจองกฐิน

วัดราษฎร์ทั่วไป นิยมทำเป็นหนังสือจองกฐินไปติดต่อประกาศไว้ยังวัดที่จะทอดถวาย เป็นการเผดียงสงฆ์ให้ทราบวันเวลาที่จะไปทอด หรือจะไปนมัสการเจ้าอาวาสให้ทราบไว้ก็ได้

สำหรับการขอพระราชทานผ้าพระกฐินไปทอด ณ พระอารามหลวงให้แจ้งกรมการศาสนา เพื่อขึ้นบัญชีไว้กราบบังคมทูลและแจ้งให้วัดทราบ ในทางปฏิบัติผู้ขอพระราชทานจะไปติดต่อกับทางวัดในรายละเอียดต่าง ๆ จนก่อนถึงวันกำหนดวันทอด จึงมารับผ้าพระกฐิน และเครื่องกฐินพระราชทานจากกรมศาสนา

การนำกฐินไปทอด

ทำได้สองอย่าง อย่างหนึ่งคือนำผ้ากฐินทานกับเครื่องบริวารที่จะถวายไปตั้งไว้ ณ วัดที่จะทอดก่อน พอถึงวันกำหนดเจ้าภาพผู้เป็นเจ้าของกฐิน หรือรับพระราชทานผ้ากฐินทานมาจึงพากันไปยังวัดเพื่อทำพิธีถวาย อีกอย่างหนึ่ง ตามคติที่ถือว่าการทอดกฐินเป็นการถวายทานพิเศษแก่พระสงฆ์ที่ได้จำพรรษาครบไตรมาส นับว่าได้กุศลแรง จึงได้มีการฉลองกฐินก่อนนำไปวัดเป็นงานใหญ่ มีการทำบุญเลี้ยงพระที่บ้านของผู้เป็นเจ้าของกฐิน และเลี้ยงผู้คน มีมหรสพสมโภช และบางงานอาจมีการรวบรวมปัจจัยไปวัดถวายพระอีกด้วยเช่น ในกรณีกฐินสามัคคี พอถึงกำหนดวันทอดก็จะมีการแห่แหนเป็นกระบวนไปยังวัดที่จะทอด มีเครื่องบรรเลงมีการฟ้อนรำนำขบวนตามประเพณีนิยม

การถวายกฐิน

นิยมถวายในโบสถ์ โดยเฉพาะกฐินพระราชทาน ก่อนจะถึงกำหนดเวลาจะเอาเครื่องบริวารกฐินไปจัดตั้งไว้ในโบสถ์ก่อน ส่วนผ้ากฐินพระราชทานจะยังไม่นำเข้าไป พอถึงกำหนดเวลาพระสงฆ์ที่จะรับกฐิน จะลงโบสถ์พร้อมกัน นั่งบนอาสนที่จัดไว้ เจ้าภาพของกฐิน พร้อมด้วยผู้ร่วมงานจะพากันไปยังโบสถ์ เมื่อถึงหน้าโบสถ์เจ้าหน้าที่จะนำผ้าพระกฐินไปรอส่งให้ประธาน ประธานรับผ้าพระกฐินวางบนมือถือประคอง นำคณะเดินเข้าสู่โบสถ์ แล้วนำผ้าพระกฐินไปวางบนพานที่จัดไว้หน้าพระสงฆ์ และหน้าพระประธานในโบสถ์ คณะที่ตามมาเข้านั่งที่ ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วกราบพระพุทธรูปประธานในโบสถ์แบบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วลุกมายกผ้าพระกฐินในพานขึ้น ดึงผ้าห่มพระประธานมอบให้เจ้าหน้าที่ รับไปห่มพระประธานทีหลัง แล้วประนมมือวางผ้าพระกฐินบนมือทั้งสอง หันหน้าตรงพระสงฆ์แล้วกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน จบแล้วพระสงฆ์รับ สาธุการ ประธานวางผ้าพระกฐินลงบนพานเช่นเดิม แล้วกลับเข้านั่งที่ ต่อจากนี้ไปเป็นพิธีกรานกฐินของพระสงฆ์

กฐินของประชาชน หรือ กฐินสามัคคี หรือในวัดบางวัดนิยมถวายกันที่ศาลาการเปรียญ หรือวิหารสำหรับทำบุญ แล้วเจ้าหน้าที่จึงนำผ้ากฐินที่ถวายแล้วไปถวายพระสงฆ์ ทำพิธีกรานกฐินในโบสถ์เฉพาะพระสงฆ์อีกทีหนึ่ง

การทำพิธีกฐินัตการกิจของพระสงฆ์ เริ่มจากการกล่าวคำขอความเห็นที่เรียกว่า อปโลกน์ และการสวดญัตติทุติยกรรม คือการยินยอมยกให้ ต่อจากนั้นพระสงฆ์รูปที่ได้รับความยินยอม นำผ้าไตรไปครองเสร็จแล้วขึ้นนั่งยังอาสนเดิม ประชาชนผู้ถวายพระกฐินทาน ทายกทายิกา และผู้ร่วมบำเพ็ญกุศล ณ ที่นั้น เข้าประเคนสิ่งของอันเป็นบริวารขององค์กฐินตามลำดับจนเสร็จแล้ว พระสงฆ์ทั้งนั้นจับพัด ประธานสงฆ์เริ่มสวดนำด้วยคาถาอนุโมทนา ประธานหรือเจ้าภาพ กรวดน้ำ และรับพรจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี

คำถวายกฐิน
มีอยู่สองแบบด้วยกันคือ แบบเก่า และแบบใหม่ ดังนี้
คำถวายแบบมหานิกาย
อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม (กล่าวสามหน)
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรกฐิน พร้อมกับของบริวารนี้แก่พระสงฆ์ (กล่าวสามหน)

คำกล่าวแบบธรรมยุต
อิมํ มยํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินจีวรทสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ ปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตฺวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ อมฺหากํ ฑีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรกฐิน กับของบริวารนี้แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน พร้อมกับของบริวารของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้งรับแล้วจงกราลกฐินด้วยผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ ฯ

ผู้ประสงค์จะทอดกฐินจะทอดจะทำอย่างไร

พุทธศาสนิกชนทั่วไป ย่อมถือกันว่า การทำบุญทอดกฐินเป็นกุศลแรง เพราะเป็นกาลทาน ทำได้เพียงปีละ 1 ครั้งและต้องทำในกำหนดเวลาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ดังนั้นถ้ามีความเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐินบ้างแล้ว พึ่งปฏิบัติดังต่อไปนี้

จองกฐิน เมื่อจะไปจองกฐิน ณ วัดใด พอเข้าพรรษาแล้ว พึงไปมนัสการสมภารเจ้าวัดนั้น กราบเรียนแก่ท่านว่าตนมีความประสงค์จะขอทอดกฐิน แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศไว้ ณ วัดนั้น เพื่อให้รู้ทั่ว ๆ กัน การที่ต้องไปจองก่อนแต่เนิ่น ๆ ก็เพื่อให้ได้ทอดวัดที่ตนต้องการ หากมิเช่นนั้นอาจมีผู้อื่นไปจองก่อน นี้กล่าวสำหรับวัดราษฎร์ ซึ่งราษฎรมีสิทธิจองได้ทุกวัด แต่ถ้าวัดนั้นเป็นวัดหลวง อันมีธรรมเนียมว่าต้องได้รับกฐินหลวงแล้ว ทายกนั้น ครั้นกราบเรียนเจ้าอาวาสท่านแล้ว ต้องทำหนังสือยื่นต่อกองสัมฆการีกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ขอเป็นกฐินพระราชทาง ครั้นคำอนุญาตตกไปถึงแล้ว จึงจะจองได้

เตรียมการ ครั้นจองกฐินเรียบร้อยแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้ว จะทอดกฐินในวันใด ก็กำหนดให้แน่นอน แล้วกราบเรียนให้เจ้าวัดท่านทราบวันกำหนดนั้น ถ้าเป็นอย่างชนบท สมภารเจ้าวัด ก็บอกติดต่อกับชาวบ้านว่าวันนั้นว่านี้เป็นวันทอดกฐิน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดหาอาหารไว้เลี้ยงพระ และเลี้ยงผุ้มาในการกฐิน

ครั้นกำหนดวันทอดกฐินแล้ว ก็เตรียมจัดหาเครื่องผ้ากฐิน คือไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ ตามแต่มีศรัทธามากน้อย (ถ้าจัดเต็มที่มักมี 3 ไตร คือ องค์ครอง 1 ไตร คู่สวดองค์ละ 1 ไตร)

วันงาน พิธีทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น โดยมากจึงจัดงานเป็น 2 วัน วันต้นตั้งองค์พระกฐินที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้ จะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนมีการมหรสพครึกครื้นสนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา รุ่งขึ้นเป็นที่วัดทอด ถ้าไปทางบก ก็มีแห่ทางขบวนรถหรือเดินขบวนกันไป มีแตรวงหรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้น ถ้าไปทางเรือก็มีแห่งทางขบวนเรือสนุกสนาน โดยมากมักแห่ไปตอนเช้า และเลี้ยงพระเพล การทอดกฐิน จะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้ สุดแล้วแต่สะดวก การเลี้ยงพระ ถ้าเป็นอย่างในชนบท ชาวบ้านจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย อาหารมากมายเหลือเฟือ แม้ข้อนี้ ก็สุดแต่กาละเทศะแห่งท้องถิ่น

อนึ่ง ถ้าตั้งองค์กฐินในวัดที่จะทอดนั้น เช่น ในชนบทตอนเย็น ก็แห่งองค์พระกฐินไปตั้งที่วัด กลางคืนมีการฉลองรุ่งขึ้น เลี้ยงพระเช้าแล้ว ทอดกฐิน ถวายภัตตาหารเพล

การถวายผ้ากฐิน การถวายผ้ากฐินน้น คือ เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกัน แล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ครั้นจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผาไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ ครั้นแล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ เสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระ มีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้

พิธีกรานกฐิน
พิธิกรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะคือภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้น นำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง เย็บ ย้อม แห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร

เสร็จแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนา กล่าวคือเรื่องประวัติกฐินและอานิสงส์ครั้งแล้วภิกษุผู้รับผ้ากฐิน นั่งคุกเข่าตั้งนะโม 3 จบ แล้วเปล่งวาจาในท่ามกลางชุมนุมนั้น ตามลักษณะผ้าที่กรานดังนี้

ถ้าเป็นผ้าสังฆาฏิ เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมายสงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสัมฆาฎินี้ (ในเวลาว่านั้นไม่ต้องว่าคำแปลนี้) 3 จบ

ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินาอุตฺตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าจ้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอุตตราสงค์นี้ 3 จบ

ถ้าเป็นผ้าอันตรวาสก (สบง) เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินา อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอันครวาสกนี้ 3 จบ

ลำดับนั้น สงฆ์นั่งคุกเข่าพร้อมกันแล้วกรานพระ 3 หนเสร้จแล้ว ตั้งนโมพร้อมกัน 3 จบ แล้วท่านผู้ได้รับผ้ากฐินหันหน้ามายังกลุ่มภิกษุสงษ์ กล่าวคำอนุโมทนาประกาศดังนี้

"อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบ (แปลว่า อาวุโส! กฐินสงฆ์กราบแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าขออนุโมทนา)

คำว่า อาวุโส นั้น ถ้ามีภิกษุอื่นซึ่งมีพรรษามากกว่าภิกษุผู้ครองกฐินแม้เพียงรูปเดียวก็ตาม ให้เปลี่ยนเป็น ภนฺเต

ต่อนั้น สงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ พร้อมกันแล้วให้ภิกษุทั้งปวง อนุโมทนาเรียงองค์กันไปทีละรูป ๆ ว่า "อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินฺ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบสงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ ทำดังนี้ จนหมดภิกษุผู้ประชุมอนุโมทนา

(ถ้าผู้อนุโมทนา มีพรรษษแก่กว่าสงฆ์ทั่งปวง ให้เปลี่ยนคำว่า ภนฺเต เป็น อาวุโส)

ในการว่าคำอนุโมทนานี้พึงนั่งคุกเข่าประนมมือเสร้จแล้วจึงนั่งพับเพียงลง

เมื่อเสร็จแล้ว ให้นั่งพร้อมกันคุกเข่าประนมมือ หันหน้าตรงต่อพระพุทธปฏิมา ว่าพร้อมกันอีก 3 จบ แต่ให้เปลี่ยนคำว่า อนุโมทามิ เป็น อนุโมทาม เป็นอันเสร็จไปชั้นหนึ่ง

ต่อแต่นั้นกราบพระ 3 หน นั่งพับเพียบ สวดปาฐะและคาถาเนื่องด้วยกรานกฐิน จบแล้วก็เป็นเสร็จพิธีการกรานกฐิน

อานิสงส์กฐินสำหรับพระ

ในพระวินัย ระบุอานิสงส์กฐินไว้ 5 คือ
1. เข้าบ้านได้โดยมิต้องบอกลาภิกษุด้วยกัน
2. เอาไตรจีวรไปโดยไม่ครบสำรับได้
3. ฉันอาหารเป็นคณะโภชน์ได้
4. เก็บจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
5. ลาภที่เกิดขึ้นเป็นของเธอผู้จำพรรษาในวัดนั้น

อนิสงส์กฐินสำหรับผู้ทอด
โดยทั่วไปผู้เขียนเองและแม้ผู้รู้บางท่านก็ยังไม่เคยพบในพระบาลีที่ระบุไว้โดยตรง แต่ว่าการทอดกฐินเป็นกาลทาน ปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว วันหนึ่งทำได้ครั้งเดียวในปีหนึ่ง ๆ ต้องทำภายในกำหนดเวลา และผู้ทอดก็ต้องตระเตรียมจัดทำเป็นงานใหญ่ ต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน จึงนิยมกันว่าเป็นพิธีบุญที่อานิสงส์แรง น่าคิดอีกทางหนึ่งว่า พิธีเช่นนี้ได้ทั้งโภคสมบัติ เพราะเราเองบริจาค ได้ทั่งบริวารสมบัติเพราะได้บอกบุญแก่ญาติมิตรใหมาร่วมการกุศล กาลทานเช่นนี้ เรียกว่า ทานทางพระวินัย

คำถวายผ้ากฐิน อย่างมหานิกาย
อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม (ว่า 3 หน)
แปลว่า "ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์"

คำถวายผ้ากฐิน อย่างธรรมยุตติกนิกาย

อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินนทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตฺวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

แปลว่า "ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้ากฐิน พร้อมทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย และครั้นรับแล้วขอจงกรานกฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ"

หมายเหตุ1

ในการทอดกฐินนี้ ยังมีกฐินและข้อพิเศษที่ควรนำมากล่าวไว้ด้วย คือ 1. จุลกฐิน 2.ธงจระเข้

1. จุลกฐิน มีกฐินพิเศษอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่าจุลกฐินเป็นงานที่มีพิธีมาก ถือกันว่ามาแต่โบราณว่า มีอานิสงส์มากยิ่งนัก วิธีทำนั้น คือเก็บผ้ายมากรอเป็นด้วย และทอให้แล้วเสร็จเป็นผืนผ้าในวันเดียวกัน และนำไปทอดในวันนั้น กฐินชนิดนี้ ต้องทำแข่งกับเวลา มีผู้ทำหลายคน แบ่งกันเป็นหน้าที่ ๆ ไป ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยนิยมทำกันแล้ว

"วิธีทอดจุลกฐินนี้ มีปรากฏในหนังสือเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่าว่า บางทีเป็นของหลวงทำในวันกลางเดือน 12 คือ ถ้าสืบรู้ว่าวัดไหนยังไม่ได้รับกฐิน ถึงวันกลางเดือน 12 อันเป็นที่สุดของพระบรมพุทธานุญาตซึ่งพระสงฆ์จะรับกฐินได้ในปีนั้น จึงทำผ้าจุลกฐินไปทอด มูลเหตุของจุลกฐินคงเกิดแต่จะทอดในวันที่สุดเช่นนี้ จึงต้องรีบร้อนขวนขวายทำให้ทัน เห็นจะเป็นประเพณีมีมาเก่าแก่ เพราะถ้าเป็นชั้นหลังก็จะเที่ยวหาซื้อผ้าไปทอดได้หาพักต้องทอใหม่ไม่" (จากวิธีทำบุญ ฉบับหอสมุด หน้า 119)

2. ธงจระเข้ ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้ว ยังไม่ปรากฎหลักฐาน และข้อวิจารณ์ อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี 2 มติ คือ


1. ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบเหมือน เช่น การยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐิน มีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขี้น ก็เคลื่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้น ก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงานทั้งที่องค์กฐิน ทั้งที่บริเวณวัดและภายหลัย คงหวั่นจะให้เป็นเครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐิน ดังนั้น จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว

2. อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้

หมายเหตุที่ 2

ความเป็นมาของธงจระเข้งานกฐิน

ยัง มีไม่น้อยที่ท่านไม่เข้าใจความหมายรูปจระเข้กับนางมัจฉา ข้าพเจ้าขอเรียนว่า เป็นธงหมายถึงการบุญทอดกฐินโดยเฉพาะ ซึ่งสมัยนี้ทางจังหวัดพระนครไม่ค่อยได้เห็น แต่ตามชนบทภาคกลางบางแห่ง ก็ยังใช้ธงเครื่องหมายประจำกฐิน ในยุคนี้ส่วนมากก็ใช้ธงธรรมจักรแทน และใช้ได้ทั่วไปในงานกุศล

เรื่องนี้สมัยที่ข้าพเจ้ายังเด็ก เคยเห็นมีการแห่กฐินไปทอดตามวัดนั้น ส่วนมากเขามีธงจระเข้กับนางมัจฉาซึ่งเอาลำไม้ไผ่ทำเป็นเสาธง โดยลิดกิ่งข้างล่างออกเอาไว้แต่ปลายกิ่งเล็กๆ อยู่บนยอด แล้วมีผ้าขาวกว้างประมาณศอกกว่า ยาวประมาณ ๒ เท่าของส่วนกว้าง หรือจะกว้างกว่ายาวกว่าก็ได้ เขียนรูปจระเข้และรูปนางมัจฉาด้วยหมึกสีดำ

ผ้าธงนี้เขาใช้เย็บข้างล่างและข้างบนเป็นช่อง เพื่อจะเอาไม้ขนาดนิ้วมือสอดเข้าไปให้ไม้โผล่ออกมา เพื่อใช้เชือกผูกโยงสองข้างเป็นสามเหลี่ยม ผูกติดปลายส่วนข้างล่าง สอดไม้ไว้เช่นกัน เพื่อให้ธงกางอยู่ตลอดเวลา

เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วก็จะต้องเอาธงนี้ไปปักหน้าวัด เพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมารู้ว่าวัดนี้ได้ทอดกฐินแล้ว ผู้คนสมัยก่อนก็จะยกมือขึ้นอนุโมทนาในการกุศลกฐินด้วย ฉะนั้น ธงจระเข้และนางมัจฉานั้นจึงเป็นเครื่องหมายการกฐินที่จำเป็นสมัยก่อน เพราะเวลาแห่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นแห่กฐิน ผิดกว่างานบุญอื่นๆ หรือแห่ผ้าป่าก็นิยมทอดกันมาก

ธงจระเข้สมัยก่อนยังมีประโยชน์ เมื่อจวนเวลาจะสิ้นวันฤดูหมดหน้ากฐินแล้ว ก็จะมีหมู่ผู้ศรัทธาใจบุญจะใช้เรือเดินทางไปตามแม่น้ำลำคลอง ในเรือมีไตรเครื่องกฐินไปพร้อมและพร้อมที่จะทอดได้ทันที สมัยก่อนมีเพียงไตรเดียวก็ทอดได้

เมื่อเห็นว่าวัดไหนไม่มีธงจระเข้ปักไว้หน้าวัด ก็จะรู้ว่าวัดนั้นกฐินตกค้าง ทั้งไม่มีใครรับทอด ก็จะขึ้นไปหาท่านสมภาร เมื่อรู้แน่ว่าวัดนี้ไม่มีใครจองไม่มีใครทอด เมื่อเกินเวลาผ่านเลยไปแล้วก็จะเป็นกฐินตกค้างปี ท่านผู้ศรัทธาใจบุญก็จะจัดการทอดทันที แต่มีผ้าไตรครองผืนเดียวนอกนั้นก็ถวายปัจจัยและง่ายดีไม่ต้องมีพิธีอะไรมาก มาย

แต่ยุคนี้การทอดกฐินต้องเป็นกฐินสามัคคีส่วนมาก บางวัดพระอยากได้เงินเข้าวัดมากๆ ต้องสร้างโน่นสร้างนี่ ต้องรวมทุนทรัพย์เพราะทั้งโบสถ์และศาลาเก่าแก่กำลังจะผุพัง ต้องบอกบุญเรี่ยไรเป็นการใหญ่ นี่เป็นปัจจุบันนี้ ทำให้มนุษย์ใจบาปหยาบช้าไม่มีศาสนาสวมรอยทำชั่ว หลอกลวงพระและต้มชาวบ้านที่มีจิตศรัทธา ทำให้ศาสนามัวหมอง

กฐินส่วนบุคคลก็น้อยลงหายไป ธงจระเข้ก็หายไปด้วยมีธงธรรมจักรสีแดงพื้นเหลืองมาแทน เพราะใช้กับงานทางศาสนาได้ทุกอย่าง จึงแยกไม่ออกว่างานกฐินหรืองานบุญใด ฉะนั้น คนรุ่นหลังไม่รู้ความหมายของธงจระเข้มีความเป็นมาอย่างใด
ต้นเรื่องการเป็นมาของธงจระเข้งานกฐินนี้ ข้าพเจ้าได้รับคำบอกเล่าจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ คล้ายนิยายตำนานของบ่อเกิดแห่งต้นเหตุ ท่านเล่านิยายโบรมโบราณให้ฟังว่า

ครั้งก่อนมีเศรษฐีเหนียวแน่นผู้หนึ่ง ไม่ชอบทำบุญให้ทาน อดทนต่อการกินอยู่ง่ายๆ ไม่ใช้จ่ายเท่าที่ควร ได้เงินก็ได้แต่เก็บไว้ ไม่ทำตัวเป็นคนบุญใจ คนมีก็เหมือนคนจนยากแค้น เพราะไม่ใช้เงินให้เป็นประโยชน์ มีแต่ความงกทรัพย์สิน ได้รวบรวมเงินทองใส่โอ่งนำไปฝังไว้ในที่ดินของตนอยู่ใกล้บ้านโดยไม่ให้ใคร รู้เห็น

แม้แต่บุตรภรรยาก็ไม่รู้ที่ฝังทรัพย์สมบัตินั้นใกล้กับลำแม่น้ำ ฉะนั้น เมื่อตนตายไปแล้วก็เกิดเป็นจระเข้คอยเฝ้าสมบัติ เป็นจระเข้ที่ดุร้าย เป็นเจ้าถิ่นใหญ่กว่าจระเข้ทั้งหลายอยู่ในแถบนั้น เพราะหวงสมบัติ

ต่อมาน้ำค่อยๆ เซาะตลิ่งพังลงทีละเล็กละน้อยจวนจะถึงที่ฝังสมบัติ จระเข้ตัวนั้นไม่รู้จะทำอย่างไรดี ถ้าตลิ่งพังก็จะทำลายทรัพย์สมบัติที่ตนได้อุตส่าห์หาได้แล้วนำมาฝังไว้ หากตลิ่งพังทรัพย์สมบัติตกลงไปในน้ำ สายน้ำก็จะพัดกระจัดกระจายไป ก็เป็นอันสุดสิ้นกัน เมื่อไม่มีทางรักษาสมบัติต่อไปได้ จระเข้ตัวนั้นก็ไปเข้าฝันลูกชายในร่างมนุษย์ผู้เป็นพ่อบอกว่า พ่อเดี๋ยวนี้เกิดเป็นจระเข้เฝ้าสมบัติ

แต่ บัดนี้ตลิ่งจะพัง กำลังจะทำลายทรัพย์สมบัติที่พ่อหามาได้ฝังไว้ จะพังลงน้ำหมดแล้ว ขอให้ลูกจงไปขุดเอาทรัพย์สินเหล่านั้น แล้วนำไปทอดกฐินและสร้างกุศลที่เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาต่อไป แล้วอุทิศกุศลกรวดน้ำไปให้พ่อด้วย จะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์เสียที ว่าแล้วก็บอกชี้ที่ฝังทรัพย์ให้ลูกชายให้รู้ที่ฝังทรัพย์ พร้อมด้วยมีเครื่องหมายบอกไว้ให้ตรงไปขุดตามที่พ่อบอก อย่าช้าให้รับจัดการ

เมื่อลูกชายตื่นขึ้นก็จำความฝันได้แม่นยำ นึกว่าพ่อเรานี่เป็นคนตระหนี่ แม้จะตายไปแล้วก็ห่วงทรัพย์สมบัติ จิตใจยังจดจ่อกังวลอยู่ในทรัพย์เงินทอง จึงต้องไปเกิดเป็นจระเข้คอยเฝ้าทรัพย์ ควรเราจะไปขุดนำมาทำบุญสร้างกุศล อุทิศเพื่อให้พ่อได้เกิดเป็นมนุษย์ต่อไป แล้วต่อมาลูกชายก็ไปขุดทรัพย์ ตามที่พ่อได้เข้าฝันบอกที่ฝังไว้ ก็ได้ทรัพย์สินจริงตามที่พ่อบอกทุกประการ ลูกชายก็ไปจองกฐินที่วัดแห่งหนึ่งใกล้น้ำ

เมื่อถึงหน้าฤดูกฐินน้ำหลาก ลูกชายก็จัดงานทอดกฐินแห่แหนทางน้ำสนุกสนาน มีเรือองค์กฐินตบแต่งสวยงาม มีธงจระเข้ปักไว้หน้าเรือและถือว่าเจ้าของกฐิน และนับว่าแปลกมหัศจรรย์ที่มีจระเข้ตัวใหญ่นำฝูงว่ายนำเรือกฐินไปถึงวัด แล้วก็จมหายไป

ในสมัยนั้นต่อมาชาวบ้านชาวเมืองพากันเชื่อแน่ว่า เมื่อมีธงจระเข้ปักไว้หน้าเรือกฐิน พวกสัตว์น้ำที่ดุร้ายก็ไม่ดุร้ายทำอันตรายคน ในงานกฐินสมัยก่อน วัดพุทธศาสนามักจะอยู่ริมน้ำ งานกฐินจึงมีการสนุกสนานด้วยการแข่งเรือพาย ทั้งชายหญิงหนุ่มสาวเขาว่ากันว่า แม้เรือจะล่มไปเวลานั้นพวกจระเข้ก็ไม่ทำอันตราย เพราะถือว่าจระเข้ที่มาเวลานั้นต่างมาโมทนากุศลกฐิน นี่เป็นเรื่องเก่าแก่โบรมโบราณเล่าต่อๆ กันมา

เมื่อจะถามว่าแล้ว “นางมัจฉา” มันเกี่ยวอะไรกับกฐินล่ะ ข้าพเจ้ายังหาที่มาตอบให้ทราบไม่ได้ แต่ก็เดาว่าการเขียนจระเข้ตัวแรกนั้นเป็นตัวผู้ ฉะนั้น การที่จะเขียนตัวเมียเป็นคู่คงแยกกันไม่ออก ดูก็ไม่รู้ในสายตาทั่วไป หรือผู้เขียนรูปจระเข้ก็นึกไม่ออกว่าผิดแปลกแตกต่างกันอย่างใดตรงไหน ในระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย ถ้าจะสมมุติก็ต้องเขียนตัวหนังสือไว้ใต้รูปว่าจระเข้ตัวผู้ และอีกตัวว่าจระเข้ตัวเมียเพื่อให้เป็นคู่กัน แต่มันออกจะรุ่มร่ามเกินไปก็คิดว่าควรเขียนนางมัจฉาให้เป็นคู่สมสู่กับ จระเข้ เห็นแล้วเข้าใจง่ายเห็นชัดว่าเป็นตัวเมีย

เห็นจะเป็นเหตุนี้ จึงมีนางมัจฉาคู่กับธงจระเข้ในสมัยก่อนตลอดมา แต่ในยุคปัจจุบันนี้เราไม่เห็นหรือจะมีข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่สมัยก่อนมีขายตามร้านสังฆภัณฑ์ แถวเสาชิงช้า เรื่องธงกฐินสมัยก่อน ความหมายของธงกฐิน คิดว่าผู้ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องหน้าปกหนังสืออนุสรณ์งานกฐินปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ก็คงจะพอเป็นทางที่เข้าใจบ้างไม่มากก็น้อย
ความเป็นมาของธงจระเข้งานกฐินอีกความเชื่อหนึ่ง

เมื่อพูดถึงทอดกฐินภาคกลางแล้ว ก็อดนึกถึงการทอดกฐินภาคอีสานไม่ได้ แม้ในยุคนี้ก็ยังถือเป็นประเพณีการทอดกฐิน บางรายทางภาคอีสานกลางคืนจะมีหมอลำมาแสดงฉลองกฐิน สิ่งที่น่าเศร้าก็คือในงานนี้มีการล้มวัวควายล้มหมู เพื่อเอาเนื้อมาปรุงเป็นอาหารเพื่อเลี้ยงพระเลี้ยงคนอย่างสนุกสนาน ถ้าคิดแล้วก็จะเห็นได้ว่าสร้างบาปในงานบุญ ย่อมจะได้บุญกุศลไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องนัก ถ้าจะถามว่าทำไมต้องทำบาปในงานบุญ เขาก็จะแก้แย้งตอบว่า บ้านนอกบ้านนาถ้าไม่ฆ่าวัวฆ่าควายฆ่าหมูแล้ว จะเอาอาหารเลี้ยงพระเลี้ยงคนมาจากไหน หาซื้อก็ไม่มี นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดควรจะหาทางแก้ไขต่อไป

การที่ข้าพเจ้าได้นำเอาต้นเหตุของธงกฐิน และสร้างบาปในงานบุญทางภาคอีสานมากล่าว เท่าที่ข้าพเจ้าได้ทราบเรื่องธงกฐินจากท่านผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และอาจมีตำนานที่ผิดแปลกแตกต่างกับคำที่ข้าพเจ้าได้บรรยายมานี้ เป็นธรรมดานิยายชาวบ้านแต่ละแห่งแต่ละตำบล ย่อมจะผิดมากน้อยต่างกันไป หากผู้ใดได้รู้ได้ทราบจะได้กรุณาให้ความรู้แจ่มแจ้งกว่านี้แก่ข้าพเจ้า เพื่อประโยชน์แก่เยาวชนต่อไปก็จะเป็นพระคุณยิ่ง หากที่ได้บรรยายมานี้จะผิดถูกประการใดขออภัยด้วย ข้าพเจ้าขอรับผิดแต่ผู้เดียว และขอบคุณท่านที่ได้ติดตามอ่านหนังสือชุดนี้ตลอดมา

ตำนานธงจระเข้นั้นเล่ากันว่า

นิทาน โบราณว่า เศรษฐีผู้หนึ่งเป็นคนขี้เหนียว ไม่เคยคิดทำบุญสร้างกุศล ชอบนำสมบัติ ไปฝังไว้ที่ท่าน้ำหน้าบ้าน ครั้นตายลงจึงไปเกิดเป็นจระเข้เฝ้าสมบัติของตน ได้รับความทุกขเวทนา จึงไปเข้าฝัน ภรรยาให้มาขุดสมบัติ ไปทำบุญกุศล ภรรยาจึงจัดให้มีการทอดกฐินขึ้น จระเข้เศรษฐีนั้นก็บังเกิดความยินดี ว่ายน้ำตามขบวนเรือแห่องค์กฐินไป แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดแรง ไปต่อไม่ไหว จึงบอกภรรยาให้วาดรูปจระเข้ ใส่ในธงไปแทน

ธงจระเข้นี้ทำขึ้นตามคติความเชื่อเป็นหลายนัยด้วยกัน คือ

๑. สมัยโบราณนิยมแห่ผ้ากฐินไปทอดตามวัดต่าง ๆ โดยอาศัยเรือเป็นสำคัญ การเดินทางไปตามลำน้ำมักมีอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ เนือง ๆ เช่น จระเข้ขึ้นมาหนุนเรือให้ล่ม ขบกัดผู้คนบ้าง คนแต่ก่อนหวั่นเกรงภัยเช่นนี้ จึงคิดอุบายทำธงจระเข้ปักหน้าเรือไปเป็นทำนองประกาศให้สัตว์ร้ายในน้ำ เช่น จระเข้ ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่และดุร้ายกว่าสัตว์อื่นๆ ในน้ำ ให้รับทราบการบุญการกุศล จะได้พลอยอนุโมทนาและมีจิตใจอ่อนลง ไม่คิดที่จะทำอันตรายแก่ผู้คนในขบวนซึ่งเดินทางไปประกอบพิธีการทางศาสนา

๒. เนื่องจากถือกันว่าดาวจระเข้เป็นดาวสำคัญ การเคลื่อนขบวนทัพในสมัยโบราณต้องคอยดูดาวจระเข้ขึ้น ซึ่งเป็นเวลาจวนสว่างแล้ว การทอดกฐินเป็นพิธีทำบุญที่มีอานิสงส์ไพศาลเพราะทำในเวลาจำกัด มีความสำคัญเท่ากับการเคลื่อนขบวนทัพในชั้นเดิมผู้จะไปทอดกฐินต้องเตรียม เครื่องบริขารและผ้าองค์กฐินไว้อย่างพร้อมเพรียง แล้วแห่ไปวัดในเวลาดาวจระเข้ขึ้น ไปแจ้งเอาที่วัด ต่อมาจึงมีผู้คิดทำธงจระเข้โดยถือว่า ดาวจระเข้เป็นดาวบอกเวลาเคลื่อนองค์กฐิน

๓. มีเรื่องเล่าว่า มีอุบาสกคนหนึ่งนำองค์กฐินแห่ไปทางเรือมีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญในการทอด กฐิน จึงว่ายน้ำตามเรืออุบาสกนั้นไปด้วย แต่ไปได้พักหนึ่งจึงบอกแก่อุบาสกนั้นว่า ตนตามไปด้วยไม่ได้แล้วเพราะเหนื่อยอ่อนเต็มที ขอให้อุบาสกจ้างช่างเขียนภาพของตนที่ธง แล้วยกขึ้นไว้ในวัดที่ไปทอดด้วยอุบาสกรับคำจระเข้แล้วก็ทำตามที่จระเข้สั่ง ตั้งแต่นั้นมาธงรูปจระเข้จึงปรากฏตามวัดต่าง ๆ ในเวลามีการทอดกฐิน

อนึ่ง มีข้อความในจาตุมสูตรตอนหนึ่ง แสดงภัยที่จะเกิดกับพระไว้ ๔ อย่างด้วยกัน ซึ่งเปรียบด้วยภัยที่เกิดแก่บุคคลที่ลงในแม่น้ำหรือทะเล คือ

๑. ภัยเกิดแต่ความอดทนต่อโอวาทคำสอนมิได้ ท่านเปรียบเสมือนคลื่น เรียกว่า อุมฺมิภยํ
๒. ภัยเกิดแต่การเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดอยากมิได้ท่านเปรียบเสมือนจระเข้ เรียกว่า กุมฺภีลภยํ
๓. ภัยเกิดแต่ความยินดีในกามคุณ ๕ ท่านเปรียบเสมือนวังน้ำวน เรียกว่า อาวฏฺฏภยํ
๔. ภัยเกิดแต่การรักผู้หญิง ท่านเปรียบเสมือนปลาร้ายเรียกว่า สุสุกาภยํ
พิจารณารูปธงที่ช่างประดิษฐ์ขึ้น จะเห็นว่ามีภัย ๔ อย่างอยู่ครบ ต่างแต่ว่าเด่นมาก เด่นน้อย หรือเป็นเพียงแทรกอยู่ในความหมายที่เด่นมาก คือ รูปจระเข้ รองลงไปคือ รูปคลื่น ส่วนอีก ๒ อย่างคือ รูปวังน้ำวนและปลาร้าย ปรากฏด้วยรูปน้ำเป็นสำคัญ บางรายเขาเพิ่มธงปลาร้ายขึ้นอีกธงหนึ่ง เรียกว่า “ธงมัจฉา”

ธงรูปจระเข้หรือธงรูปนางมัจฉานี้ ปักไว้ที่หน้าวัด เพื่อแสดงให้ทราบว่าที่วัดนี้ได้มีการทอดกฐินแล้ว ผู้ที่ผ่านไปมาจะได้พลอยอนุโมทนาด้วย
(นี่เป็นเพียงเรื่องเล่า เป็นเพียงประวัติกล่าวขานในพระไตรปิฎกไม่มีอ้างอิง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น