วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

การรู้อริยสัจสี่ ทำให้มีตาสมบูรณ์

อริยสัจสี่โดยสังเขป

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐ มีสี่อย่างเหล่านี้,สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ

ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์,
และความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์เป็นอย่างไรเล่า ?
คือ :-ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นห้าอย่าง.ห้าอย่างนั้นอะไรเล่า ?
คือ :-รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้

เกิดทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือ ตัณหาอันใดนี้ที่เป็นเครื่องนำให้มีการเกิดอีก อันประกอบด้วยความกำหนัด เพราะอำนาจแห่งความเพลินมักทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่
ตัณหาในกาม (กามตัณหา),
ตัณหาในความมีความเป็น (ภวตัณหา),
ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น (วิภวตัณหา).
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ คือ เหตุให้เกิดทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือความดับ ไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?

คือ ความดับสนิท เพราะความจางคลายดับไปโดย ไม่เหลือของตัณหานั้น ความสละลงเสีย ความสลัดทิ้งไปความปล่อยวาง ความไม่อาลัยถึงซึ่งตัณหานั้นเอง อันใด.
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐ คือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?

คือ หนทางอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปด นั่นเอง, ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ :-
ความเห็นชอบ, ความดำริชอบ,การพูดจาชอบ, การงานชอบ, การเลี้ยงชีพชอบ,ความเพียรชอบ, ความระลึกชอบ, ความตั้งใจมั่นชอบ.ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ คือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์. ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์,

นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์,นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้เถิด.
มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๓๔-๕/๑๖๗๘-๑๖๘๓.

การรู้อริยสัจสี่ ทำให้มีตาสมบูรณ์


ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล ๓ จำพวกนี้มีอยู่ หาได้อยู่ในโลก. สามจำพวกอย่างไรเล่า ? สามจำพวกคือ :-

คนตาบอด (อนฺโธ),
คนมีตาข้างเดียว (เอกจกฺขุ),
คนมีตาสองข้าง (ทฺวิจกฺขุ).
ภิกษุทั้งหลาย ! คนตาบอดเป็นอย่างไรเล่า ?
คือคนบางคนในโลกนี้ไม่มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่ง;และไม่มีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
- ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ
- ธรรมเลวและธรรมประณีต
- ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คนตาบอด (ทั้งสองข้าง).

ภิกษุทั้งหลาย ! คนมีตาข้างเดียวเป็นอย่างไรเล่า ?คือคนบางคนในโลกนี้มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่ง;แต่ไม่มีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล

- ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ
- ธรรมเลวและธรรมประณีต
- ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง.ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คนมีตาข้างเดียว.ภิกษุทั้งหลาย ! คนมีตาสองข้างเป็นอย่างไรเล่า ?คือคนบางคนในโลกนี้มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่ง;และมีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
- ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ
- ธรรมเลวและธรรมประณีต
- ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คนมีตาสองข้าง.

...ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุมีตาสมบูรณ์ (จกฺขุมา) เป็นอย่างไรเล่า ?

คือภิกษุในกรณีนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า“นี้ทุกข์, นี้เหตุให้เกิดแห่งทุกข์, นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์”ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล ภิกษุมีตาสมบูรณ์.
ติก. อํ. ๒๐/๑๖๒/๔๖๘.
ติก. อํ. ๒๐/๑๔๗/๔๕๙.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น